พิษณุโลก - ชาวบ้านหัวรอ เมืองสองแคว รวมพลังขอฟื้นแหล่งท่องเที่ยวบ้านตัวเอง หลังกรมศิลป์สร้างให้แต่ขาดการส่งเสริมต่อเนื่อง ลุยเปิดงานเสวนาภูมิปัญญาประชาคม หัวรอ-เตาไห รอบแรก หวังดึงนักท่องเที่ยวต่อจาก “วัดใหญ่” ชม “ชีปะขาวหาย” ในตำนาน
นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวรอ ได้ร่วมเสวนาภูมิปัญญาประชาคม หัวรอ-เตาไห ครั้งที่ 1 ร่วมกับศูนย์พิษณุโลกศึกษา ต.หัวรอ สภาวัฒนธรรมตำบลหัวรอ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ จ.พิษณุโลก เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวตำบลหัวรอให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมากรมศิลปากรจัดงบก่อสร้าง “แหล่งเตาตาปะขาวหาย” ด้วยงบประมาณ 2.9 ล้านบาท (ปี 55) แต่กลับไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมเตาเผา หรือแม้กระทั่งรูปหล่อ “ชีปะขาวหาย” ซึ่งตามหลักฐานที่ได้จากการนำเศษภาชนะยุคนั้นไปวิเคราะห์ดูที่ประเทศออสเตรเลีย เชื่อได้ว่าอดีตกาล 600 ปีก่อนชีปะขาวหายเป็นผู้สร้างพระพุทธชินราช
การเสวนาครั้งนี้ได้ระดมปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ของเมืองพิษณุโลก เช่น จ.ส.อ.ดร.ทวี บูรณะเขตต์, อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ และศิลปะพระเครื่องเมืองพิษณุโลก เข้าร่วม เพื่อเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวจากวัดใหญ่ สู่ตำบลหัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก
ซึ่งวงการเสวนาได้พูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวัดตาปะขาวหาย ตำบลหัวรอ ซึ่งอดีตเคยเรียกว่า วัดชีปะขาวหาย เป็นวัดในตำนานประวัติศาสตร์การสร้างหลวงพ่อพระพุทธชินราช ปรากฏในพงศาวดารเหนือ ที่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เจ้าเมืองเชียงแสน โปรดให้มีการหล่อพระพุทธรูป 3 องค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา แต่พระพุทธชินราชหล่อไม่สำเร็จ ทองแล่นไม่สมบูรณ์ถึง 3 ครั้ง ต่อมาได้มีชีปะขาวมาทำการหล่อจึงสำเร็จสมบูรณ์ ก่อนที่จะเดินหายไปที่บริเวณวัดตาปะขาวหายในปัจจุบัน
จากประวัติความเป็นมาดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับสถานที่ที่มีอยู่จริง เช่น วัดตาปะขาวหาย และ ศาลาช่องฟ้า นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสและเที่ยวชมได้จริง (ห่างจากวัดเล็กน้อย อ้อมฝั่งริมแม่น้ำน่าน) อีกทั้ง ต.หัวรอยังมีเตาทุเรียนโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำน่าน ล่าสุดทางกรมศิลปากรได้เข้าบูรณะซ่อมแซมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมได้แล้ว แต่ปัจจุบันไม่มีป้ายบอกเส้นทางไปแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว
โดยเฉพาะจุดประดิษฐานรูปหล่อชีปะขาวหาย ศาลาช่องฟ้า ซึ่งตำนานเล่าว่า เป็นจุดที่ชีปะขาวหายตัวไปหลังจากหล่อพระพุทธชินราชแล้วเสร็จ โดยทั้ง 2 จุดดังกล่าวอยู่ริมแม่น้ำน่าน (ไม่ได้อยู่ในเขตวัดตาปะขาวหาย) ส่งผลให้นักท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งคนพิษณุโลกเองยังไม่ทราบ ทราบเพียงแต่ “วัดใหญ่” สถานที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชเท่านั้น
ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ต้องการผลักดัน “ตำบลหัวรอ” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ นอกจากนี้ยังมีหลวงพ่อดำ วัดบางพยอม หลวงพ่อสองพี่น้อง วัดโพธิญาณ หลวงพ่อทองคำ วัดบ่อทองคำ และหลวงพ่อหิน วัดสระโคล่ เพราะหากมีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนสะพัด