เชียงราย - เมืองเชียงแสน เปิดพื้นที่หน้าที่ว่าการอำเภอฯ ริมฝั่งแม่น้ำโขง จัดงาน “สืบสานตำนานลุ่มน้ำโขง 750 ปีเมืองเชียงราย” อย่างยิ่งใหญ่ โชว์ “หิรัญนคร เงินยางช้างแสน” พร้อมการแสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นบ้าน
นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เป็นประธานในการจัดงานสืบสานตำนานลุ่มน้ำโขง 750 ปี เมืองเชียงราย ค่ำวานนี้(11 ส.ค.55) ที่บริเวณด้านหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน ริมฝั่งแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว โดยมีข้าราชการ ภาคเอกชน เข้าร่วมจำนวนมาก
ก่อนการเปิดงาน ได้มีการจัดขบวนแห่ เป็นขบวนรัตนสัตนัง ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว ขบวนมหาราช เมืองเชียงแสน พระเจ้าพรมมหาราช พญามังรายมหาราช ในขบวนใช้ช้างในขบวนแห่ 3 เชือก มีการตีกลองมงคลล้านนา มีผู้ร่วมขบวนจำนวน 450 คน ตั้งขบวนกันที่บริเวณสี่แยกบายพาส แม่จัน-เชียงแสน
หลังจากนั้น จึงมีการเดินแห่มาตามถนนผ่านด้านหน้าตลาดสด จนมาถึงบริเวณพิธี ซึ่งตลอดเส้นทางได้รับความสนใจจากประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ยืนรอชมขบวนตลอดสองข้างทางที่ขบวนเดินผ่าน
ทั้งนี้ งานดังกล่าว จัดให้มีการแสดงย้อนรอยตำนานเชียงแสน ฉลองเวียง เชียงราย 750 ปี การแสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ปิ๊กบ้านเก่าเกิดถิ่นกำเนิดเชียงแสน แฟชั่นผ้าซิ่นลายเชียงแสน การแสดงชาวไตยวน ไตลื้อ และมีการแสดงแสง เสียง สื่อผสม “หิรัญนคร เงินยางช้างแสน” ที่วัดป่าสัก ในเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน อีกด้วย
สำหรับเมืองเชียงแสน เป็นชื่อเดิมว่าเวียงเก่า เป็นเมืองที่เก่าแก่ของประเทศไทย โดยมีตำนานยาวนานกว่า 1,000 ปี เริ่มต้นตั้งแต่การมีอาณาจักรสุวรรณโคมคำ จนมาถึงสมัยพระเจ้าสิงหนวัติ ราชโอรสของ พระเจ้าเทวกาล กษัตรย์เมืองนครไทยเทศ เมืองไทยในมณฑลยูนนานได้อพยพครอบครัวลงมาสร้างเมืองขึ้นเรียกว่า “เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร” หรือเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสน
ต่อมา ในรัชสมัยพระเจ้ามหาไชยชนะ พ.ศ.1088 เมืองนี้ได้ล่มเป็นตำนานเมืองหนองล่ม ต่อมา พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนระบุว่า ท้าวลวจังกราชได้สร้างเมืองเงินยางขึ้น ณ ที่เมืองเชียงแสนปัจจุบัน และดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้ามังราย หรือพ่อขุนเม็งรายมหาราช จึงได้ขยายอาณาเขตไปสร้างเมืองเชียงราย และเชียงใหม่ รวมทั้งรวบรวมอาณาจักรล้านนาไว้เป็นปึกแผ่น