xs
xsm
sm
md
lg

สมัชชาคนจนบุกทำเนียบฯ ทวงสัญญา “ยิ่งลักษณ์” แก้ปัญหาเขื่อนปากมูล ลั่นตกลงไม่ได้อยู่ยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มสมัชชาคนจนทยอยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อตัวชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้แก้ปัญหาผลกระทบจากเขื่อนปากมูล
อุบลราชธานี - ชาวบ้านสมัชชาคนจนประมาณ 1,500 คนจาก 3 อำเภอตบเท้าบุกทำเนียบรัฐบาล ทวงสัญญา “ยิ่งลักษณ์” ปฏิบัติตามมติคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลที่ยืดเยื้อมากว่า 20 ปี โดยให้เปิดประตูระบายน้ำถาวร พร้อมชดเชยค่าสูญเสียรายได้ครอบครัวละ 3.1 แสนบาท หากตกลงไม่ได้พร้อมปักหลักอยู่ยาว

เมื่อเวลา 08.45 น.วันนี้ (22 ม.ค.) ชาวบ้านสมัชชาคนจนประมาณ 200 คนขึ้นรถไฟขบวนรถเร็วอุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ออกจากสถานี อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มุ่งหน้าไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติตามมติอนุกรรมการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล ชุดนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธานที่ให้ทดลองเปิดเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 5 ปีเพื่อคืนธรรมชาติให้แก่แม่น้ำมูล และจ่ายเงินเยียวยาจากผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมานาน 20 ปี ครอบครัวละ 3.1 แสนบาท เกือบ 6,000 ครอบครัวในพื้นที่ 55 หมู่บ้านของ อ.โขงเจียม อ.สิรินธร และ อ.พิบูลมังสาหาร

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการแก้ปัญหากรณีเขื่อนปากมูล ที่ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ ตัวแทนจังหวัด และตัวแทนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เคยประชุมกันเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 แต่ไม่ได้ข้อสรุป เพราะรัฐบาลต้องการให้ศึกษาแนวทางเยียวยาแก้ไขใหม่ และวันที่ 24 มกราคม 2556 ได้นัดตัวแทนชาวบ้าน 3 คน และคณะอนุกรรมการทั้งหมดหารืออีกครั้ง ทำให้กลุ่มสมัชชาคนจน 1,500 คนแยกย้ายกันเดินทาง ทั้งทางรถไฟ รถยนต์ส่วนตัว และรถเช่าเหมาคันเข้ากรุงเทพฯ โดยนัดรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้

นางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำชาวบ้านที่เป็นอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ยอมรับหากต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ศึกษาอีก เพราะเท่ากับเป็นการยื้อเวลา จึงตกลงกันว่าหากวันที่ 24 มกราคมนี้รัฐบาลไม่ทำตามมติ ชาวบ้านทั้งหมดจะปักหลักชุมนุมประท้วงโดยไม่มีกำหนด ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้ชาวบ้านเตรียมสัมภาระไปจำนวนมาก ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องมือหุงต้ม เพื่อเตรียมปักหลักประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเหมือนในอดีตที่เคยประท้วงอยู่นานร่วม 100 วัน

อนึ่ง การก่อสร้างเขื่อนปากมูลได้รับการอนุมัติสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2532 ก่อสร้างบริเวณบ้านหัวเหว่ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม เริ่มสร้างปี 2534 และเสร็จปี 2537 มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุด 136 เมกะวัตต์ ขณะก่อสร้างต้องระเบิดเกาะแก่งหินตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด จึงเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารและรายได้ของประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำมูล ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้ชดเชยค่าการสูญเสียอาชีพตลอด 3 ปีในช่วงก่อสร้างเขื่อน ครอบครัวละ 90,000 บาท กว่า 3,100 ครอบครัว

ต่อมาปี 2540 รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ กลุ่มสมัชชาคนจนที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างถาวร จึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ แต่รัฐบาล พล.อ.ชวลิตได้ลาออกจากปัญหาค่าเงินบาทลอยตัวก่อน มาถึงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้ปฏิเสธการชดเชยเยียวยาตามข้อเรียกร้อง ทำให้มีการประท้วงอย่างต่อเนื่อง และบุกยึดเขื่อนปากมูลนานกว่า 1 เดือน ในปี 2543 ซึ่งปีเดียวกันนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหา และมีข้อสรุปให้เปิดประตูระบายน้ำเป็นเวลา 4 เดือนช่วงฤดูสัตว์น้ำวางไข่ เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติของแม่น้ำมูล แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปฏิเสธ อ้างทำให้สูญเสียรายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าช่วงดังกล่าวกว่า 200 ล้านบาท

จนถึงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในเดือนเมษายน 2544 มีมติคณะรัฐมนตรีให้ทดลองเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานเป็นเวลา 1 ปี ให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีศึกษาผลกระทบ โดยผลการศึกษาเสนอให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลตลอดทั้งปี แต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณอนุมัติให้เปิด 4 เดือน และปิด 8 เดือนมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้กลุ่มสมัชชาคนจนต้องทิ้งถิ่นฐาน อพยพไปทำงานรับจ้างในตัวเมือง พร้อมต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำเป็นการถาวรเพื่อคืนธรรมชาติให้แก่ลุ่มน้ำมูล และได้ข้อสรุปในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่คณะรัฐมนตรียังไม่ทันมีมติก็เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และเมื่อประชุมร่วมกับรัฐบาลใหม่ก็มีความพยายามโยนเรื่องกลับไปทำการศึกษาอีก ชาวบ้านจึงรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น