xs
xsm
sm
md
lg

แปดริ้วชี้หมูแพงเพราะในท้องตลาดมีผลผลิตน้อย ไม่เกี่ยวปั่นราคาหน้าฟาร์ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - ฟาร์มสุกรแปดริ้วชี้เหตุหมูหน้าฟาร์มแพงเพราะผลผลิตออกสู่ท้องตลาดน้อย เหตุก่อนหน้านี้ ลูกหมูป่วยล้มตายเกลื่อนด้วยโรคหืดหอบเป็นจำนวนมาก เผยไม่เกี่ยวขึ้นค่าแรงงาน 300 บาท จวกกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายในที่ไม่ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด ทำผู้เลี้ยงรายเล็กทยอยปิดตัวตาย ปล่อยรายใหญ่สบช่องผูกขาดปั่นราคาหน้าเขียง

วันนี้ (21 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสมศักดิ์ เกษมสุขสมบูรณ์ อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 34 ม.3 ต.สาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกร ขนาดฟาร์ม 1,000 ตัว มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี กล่าวถึงราคาสุกรที่กำลังปรับขึ้นที่หน้าฟาร์ม จนมาอยู่ในระดับที่ 67 บาทต่อ กก. เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา จากเดิมเมื่อช่วง 2 เดือนก่อน ราคาได้ตกต่ำลงสุดมาอยู่ที่ 45 บาทต่อ กก. ว่า ราคาสุกรหน้าฟาร์มที่ขยับขึ้นสูงอยู่ในขณะนี้ไม่ได้มีปัจจัยที่เกิดขึ้นมาจากที่ใกล้จะถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือการปรับค่าแรงงาน 300 บาท

แต่เนื่องจากฟาร์มหมูในพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานจากการจ้างเหมาในราคา 6,500 บาทต่อเดือน แต่ต้องแบ่งมูลสุกรภายในฟาร์มที่ขายได้มาเป็นค่าแซะล้างให้อีกส่วนหนึ่งต่างหากตามที่ได้ตกลงกัน นอกจากนี้ ยังจะได้ค่าผลักหมู หรือค่าไล่ต้อนหมูขึ้นรถอีกตัวละ 100 บาท ขณะที่กำลังจะจับขึ้นเครื่องชั่งส่งเข้าตลาด แต่ปัญหาราคาหมูหน้าฟาร์มที่แพงขึ้นนั้นเกิดมาจากปัญหาเรื่องของลูกหมูป่วยเป็นโรคหอบ และล้มตายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อช่วง 2 เดือนก่อน จึงทำให้ผลผลิตมีออกสู่ตลาดน้อย อาจทำให้ปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในท้องตลาด

แต่ก็เป็นปัญหาเพียงช่วงระยะสั้นเท่านั้น พอเกษตรหรือผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ เลี้ยงหมูได้ในปริมาณเพิ่มขึ้นราคาก็จะลดลงเอง แต่กรมการค้าภายใน และกระทรวงพาณิชย์กลับแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดได้ จ้องแต่จะประกาศควบคุมราคาหมูหน้าฟาร์มโดยที่ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ทั้งที่เกษตรกรนั้นจะอยู่ต่อไปกันไม่รอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น เคยเป็นถึงแชมป์ หรือพื้นที่ของการเพาะเลี้ยงสุกรมากที่สุดในประเทศ แต่ในปัจจุบันยังคงเหลือให้เห็นได้ไม่กี่ฟาร์มเท่านั้น

โดยผู้ที่จะอยู่รอดต่อไปได้นั้น จะเป็นผู้ประกอบการายใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งบางรายนั้นมีทั้งโรงเพาะลูกสุกร โรงเลี้ยง โรงเชือดเอง และยังมีหน้าร้านขายเองแบบครบวงจรอีกด้วย ซึ่งต่อไปหากเกษตรกรรายย่อยล้มหายตายจากไปหมด รายใหญ่ๆ ก็จะผูกขาดตลาดแต่เพียงผู้เดียว และสามารถที่จะปั่นราคา หรือจะทำอะไรก็ได้โดยที่การควบคุมของรัฐเข้าไม่ถึง

โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในปัจจุบันนี้มากที่สุด คือ ต้นทุนทางด้านการเลี้ยงเพราะวัตถุดิบทุกอย่างพากันขยับขึ้นราคากันทั้งหมด ทั้งค่าตัวลูกหมู เดิมราคาลูกหมูอายุ 2 เดือน หรือขนาดประมาณ 20 กก.อยู่ที่ 1,200 บาท ปัจจุบันนี้ ราคาได้ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1,600 บาท และราคาค่าวัตถุดิบที่จะนำมาผสมเป็นอาหาร เช่น กากถั่วเหลือง รำข้าว เดิมราคาลูกละประมาณ 500-600 บาท แต่ในปัจจุบันนี้ราคาได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่พันกว่าบาท และเคยสูงสุดถึง 1,300-1,400 บาท

“ซึ่งทุกอย่างขึ้นราคาพร้อมกันในทุกด้าน แต่กระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายในไม่ได้หันมามองที่ตรงจุดนี้ เอะอะอะไรก็ประกาศควบคุมราคาหน้าฟาร์มแต่เพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ดูที่ต้นทุนการผลิต แล้วจะให้เกษตรกรไปได้กำไรเอากันตอนไหน เพราะตอนที่เกษตรกรขาดทุนทางราชการก็ไม่เคยเข้าไปดูแลช่วยเหลือ”




กำลังโหลดความคิดเห็น