xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมรับ “ปู” เข้าแม่สอดก่อน ครม.สัญจรอุตรดิตถ์ รัฐ-เอกชนดัน “ASEAN Connectivity”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- ตัวแทนภาครัฐ-เอกชนเมืองตากเตรียมพร้อมรับ “ปู” ลงพื้นที่ 20 มกราคมนี้ ก่อนเข้าร่วมประชุม ครม.สัญจรอุตรดิตถ์ ชงแผนปั้น “แม่สอด” ขึ้นชั้นเมืองเศรษฐกิจศูนย์กลางเชื่อมอาเซียน-อินเดีย-จีน หอการค้าเล็งเสนอ 6 แผนงานหลักสร้าง “ASEAN Connectivity” เต็มรูปแบบ

วันนี้ (17 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ตากว่า พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื้อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสุภรณ์ อัตถาวงษ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสมบัติ วัฒน์พานิช ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมทีมที่ปรึกษาและคณะทำงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.) เพื่อสำรวจความพร้อมในการเตรียมต้อนรับนายกรัฐมนตรีที่จะลงพื้นที่พร้อมกับนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อศึกษาข้อมูลและพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด ในวันที่ 20 ม.กราคม ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.อุตรดิตถ์ วันที่ 21 มกราคม

โดยคณะของ พล.ต.ต.ธวัชได้หารือร่วมกับตัวแทนภาครัฐและเอกชน จากนั้นเดินทางไปดูสภาพพื้นที่ที่มีการเสนอให้จัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงการเตรียมพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีว่า จังหวัดได้ประชุมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำคณะนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ดูจุดสำคัญของชายแดนแม่สอด โดยโอกาสนี้จะเสนอแผนพัฒนาแม่สอดรองรับการเป็นเมืองเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ และกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเชื่อมกับอินเดียและจีน พัฒนาสร้างเส้นทางคมนาคมทางบกและอากาศ โครงการถนน 4 เลนแม่สอด-ตาก โครงการขุดเจาะอุโมงค์ สร้างเส้นทางรถไฟแม่สอดตากเชื่อม จ.พิษณุโลก ถึงขอนแก่น และจังหวัดในภาคอีสาน เข้าสู่ประเทศลาวและเวียดนาม รวมทั้งการขยายสนามบินแม่สอด

“แม่สอดเป็นพื้นที่สำคัญนอกเหนือจากการเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนในกลุ่มเออีซี ดังนั้นเราจะต้องสร้างแม่สอดให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียน-อินเดีย-จีน จึงต้องเร่งวางยุทธศาสตร์โดยเร็ว”

ด้านนายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ภาคเอกชนจะร่วมกันเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเร่งด่วน 6 ข้อ คือ 1. จัดตั้งเขตการค้าการลงทุนร่วมแม่สอด-เมียวดี พร้อมคณะกรรมการสองประเทศเพื่อกำหนดรูปแบบ 2. จัดตั้งคณะกรรมการเป็นเจ้าภาพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาพื้นที่ 14,000 ไร่ให้เป็นรูปธรรม พร้อมรองรับเออีซีในปี 2558

3. เร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นรองรับการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน หรือ ASEAN Connectivity อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน คือ สร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 และถนนเชื่อมโยง บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จหรือ one stop service ของส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ 4. สำรวจ ออกแบบ เพื่อพัฒนาถนนตาก-แม่สอดให้เป็นทางสมัยใหม่ มีการเจาะอุโมงค์ และทำสะพานเชื่อมเพื่อย่นระยะทาง

5. ผลักดันให้มีเที่ยวบินเชื่อมโยงกรุงเทพฯ-แม่สอด-ร่างกุ้ง กรุงเทพฯ-แม่สอด-เมาะละแหม่ง 6. ให้รัฐบาลเจรจาให้มีการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างชายแดนไทย-พม่าโดยใช้บอเดอร์พาสตามข้อตกลงไทย-พม่าว่าด้วยเรื่องการข้ามแดนปี 1997 โดยเปิดให้คนไทยสามารถไปได้ถึงเมาะละแหม่ง และคนพม่าเข้าถึง จ.พิษณุโลก เป็นเวลา 7 วัน

นายบรรพตกล่าวว่า ผลดีที่ประเทศไทยได้รับคือ มีพื้นที่รองรับการเป็นประตูตะวันตก มีการเชื่อมโยงอาเซียนรองรับเออีซีในปี 2558 มีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม และเขตนิคมอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน เป็นพื้นที่เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจ 2 เขตเข้าด้วยกัน ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งตามข้อตกลงในเขตการค้าเสรี และสิทธิประโยชน์ทางภาษีและโควตา สามารถรองรับแรงงานอุตสาหกรรมชายแดน และปัญหาค่าแรง 300 บาทต่อวันได้ มีกรอบการลงทุนขั้นพื้นฐานชัดเจน ทั้งพื้นที่และเงินลงทุนที่ตอบสนองนักลงทุนได้ และยังสามารถกำหนดพื้นที่ควบคุมปัญหาด้านความมั่นคงได้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น