ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - 8 องค์กรเชียงใหม่จับมือทีเส็บวางกรอบแผนแม่บทผลักดันเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางไมซ์ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศและภูมิภาคใน 5 ปี ระยะแรกเน้นวางรากฐาน-ทำตลาดในประเทศ ระยะที่สองบุกตลาดภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือกลุ่มประเทศ ส่วนระยะสุดท้ายประกาศความพร้อมเป็นจุดหมายการประชุมระดับนานาชาติ
วันนี้ (15 ม.ค.) นายธงชัย ศรีดามา กรรมการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าวการประกาศเจตนารมณ์ และความร่วมมือในการวางกรอบ “แผนแม่บท” การทำงานเพื่อพัฒนาและผลักดันจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการ (Chiang Mai MICE Destination Declaration) ณ โรงแรมรติล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
การแถลงข่าวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 8 องค์กร ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเชียงใหม่ เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ (Chiang Mai Creative City) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้แทนมหาวิทยาลัยภาคเหนือ 8 แห่ง ได้เข้าร่วมการประชุมเชียงใหม่ไมซ์ซัมมิต (Chiang Mai MICE Summit) เพื่อร่วมกันสรุปแนวทางในการวางกรอบแผนแม่บทการทำงานเพื่อพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการของประเทศและภูมิภาคอาเซียน
โดยข้อสรุปที่ได้จากการประชุมดังกล่าวประกอบด้วย เป้าหมาย ซึ่งได้แก่การผลักดันและพัฒนาให้อุตสาหกรรมไมซ์ของจังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของประเทศและภูมิภาคอาเซียนภายในระยะเวลา 5 ปี โดยมีแผนการทำงานรวม 3 ระยะ 10 ข้อ ได้แก่แผนระยะที่ 1 ในปี 2556 ซึ่งจะเน้นการทำตลาดในประเทศและวางรากฐานอุตสาหกรรมไมซ์ ได้แก่ 1. ให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองยุทธศาสตร์ไมซ์ (MICE Destination) โดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการกำหนดตำแหน่งทางการตลาดของเมืองเชียงใหม่ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของเมือง การจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบทางการตลาดด้านไมซ์โดยตรง ภายใต้การมีส่วนร่วมของท้องถิ่น และการกำหนดยุทธศาสตร์เป็นลำดับขั้น เน้นทั้งตลาดในประเทศ ตลาดภูมิภาค และตลาดโลก
2. ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในหมู่ผู้ประกอบการธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3. ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันกระตุ้นให้เกิดการจัดประชุม สัมมนา และการจัดงานแสดงสินค้าในจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง และ 4. องค์การบริหารส่วนจังหวัดและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกันเป็นแกนหลักในการประสานจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและพัฒนาปัจจัยสนับสนุนหลักที่เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ด้านฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมไมซ์ในเชียงใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนและพัฒนาในอนาคต
ส่วนแผนระยะที่ 2 ในปี 2557-2558 ซึ่งจะเน้นการส่งเสริมตลาดภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือ GMS, BIMSTEC และเมืองพี่เมืองน้องของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ 5. ให้หอการค้าและพาณิชย์จังหวัดใช้เครือข่ายด้านการค้าการลงทุน ในการขยายตลาดธุรกิจไมซ์ให้สอดคล้องกับการรวมกันเป็น AEC และสร้างความร่วมมือกับประเทศกลุ่ม ASEAN, GMS และ BIMSTEC อย่างครอบคลุมทั้งในด้านการประชุม แสดงสินค้าและนิทรรศการ 6. ร่วมกำหนดให้มีอุตสาหกรรมหลักที่จะเป็นหัวหอกในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของเชียงใหม่ 7. รักษาและส่งเสริมเสน่ห์ของวัฒนธรรมล้านนาให้เป็นจุดแข็งในธุรกิจไมซ์ของเชียงใหม่ 8. ให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการร่วมกับมหาวิทยาลัยและสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาศักยภาพและความสามารถของบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของจังหวัดเชียงใหม่ 9. ร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลวางแผนระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการรองรับที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่แผนในระยะที่ 3 ระหว่างปี 2559-2560 จะเน้นที่การประกาศความพร้อมในการเป็นจุดหมายของการประชุมระดับนานาชาติ ได้แก่ 10. ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงการจัดงานไมซ์หลักประจำปีที่เชียงใหม่เป็นผู้ริเริ่มและเป็นเจ้าของ
นายธงชัย ศรีดามา กรรมการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนี้ว่า เป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมกันสนับสนุนให้จังหวัดเชียงใหม่ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการจะนำกรอบแผนแม่บทที่ได้ในครั้งนี้ไปใช้ในการร่างแผนการดำเนินงานฉบับสมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอให้รัฐบาลได้รับทราบต่อไป ขณะเดียวกันก็จะนำไปใช้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย
สำหรับมูลค่ารวมในอุตสาหกรรมไมซ์ของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2555 พบว่ามีมูลค่ารวมทั้งในประเทศและต่างประเทศคิดเป็น 3,859.3 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศจำนวน 22,150 คน คิดเป็นมูลค่า 94.25 ล้านบาท และนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศจำนวน 46,826 คน คิดเป็นมูลค่า 3,764.8 ล้านบาท ขณะที่อัตราการจัดงานในอุตสาหกรรมไมซ์ในจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งสิ้น 491 ครั้ง