ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ชาวบ้านหนองหารจาง หวั่นโรงงานแป้งมันขอนแก่นสตาร์ช กระทบแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาว อ.น้ำพอง ร่วมชุมนุมยื่นหนังสือคัดค้านถึงศาลากลางขอนแก่น ขณะที่พ่อเมืองขอนแก่นสั่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดตรวจสอบขั้นตอนประชาพิจารณ์โปร่งใสหรือไม่ พร้อมรับปากลงพื้นที่ก่อสร้างโรงงานในเร็วๆ นี้
วันนี้ (10 ม.ค. 56) ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่นหลังใหม่ กลุ่มชาวบ้านพื้นที่บ้านหนองหารจาง ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว ประมาณ 200 คน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างโรงงานแป้งมันสำปะหลังของบริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ร่วมชุมนุมคัดค้านการตั้งโรงงานแป้งมันดังกล่าว โดยนำรถขยายเสียงพร้อมป้ายเขียนข้อความคัดค้านการตั้งโรงงาน
สำหรับโรงงานแป้งมันบริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ตั้งโรงงานอยู่ที่บ้านหนองหารจาง ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 ในนามนายเทพฤทธิ์ ศรีปัญญา ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% โดยกลุ่มชาวบ้านระบุว่า โรงงานแป้งมันตั้งอยู่ห่างชุมชนเพียง 800 เมตร เกิดความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบด้านกลิ่น เสียงรบกวน ฯลฯ โดยเฉพาะผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดกับห้วยเสือเต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับประเทศ
นายบุญช่วย โสสีทา ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว เปิดเผยว่า การตั้งโรงงานบริษัท ขอนแก่นสตาร์ช ในพื้นที่บ้านหนองหารจางนั้นไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกระบวนการได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแป้งมัน บริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเกิดขึ้นจริง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548
โดยใช้วิธีการหลอกล่อให้ชาวบ้านไปร่วมลงชื่อยินยอมการตั้งโรงงานแป้งมัน ด้วยการตั้งโต๊ะแจกเสื้อยืดให้ชาวบ้านที่ยอมลงชื่อ ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนมากไปร่วมลงชื่อขอรับเสื้อยืด และโรงงานได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่าชาวบ้านในพื้นที่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงควรมีประชาพิจารณ์ในทุกมิติให้ชาวบ้านได้รับรู้ก่อนที่จะลงชื่อว่าเห็นด้วยหรือไม่
ที่สำคัญโรงงานแป้งมันต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตจำนวนมาก และได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายให้ใช้น้ำจากห้วยเสือเต้น โดยสร้างสถานีสูบน้ำและท่อส่งน้ำไปยังโรงงาน ซึ่งพื้นที่ห้วยเสือเต้นนั้นเป็นพื้นที่ชุมน้ำระดับชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เรื่องการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี 1 เมษายน 2543
นายบุญช่วยกล่าวต่อว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว ขอเรียกร้องให้นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น 3 ประการ คือ 1. ตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ว่าเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 หรือไม่
2. ให้ตรวจสอบการอนุญาตใช้น้ำโรงงานแป้งมันบริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ของผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน ในห้วยเสือเต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญระดับชาติว่าชอบหรือไม่ และ 3. ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่บริเวณที่ตั้งโรงงานและพื้นที่ชุ่มน้ำห้วยเสือเต้น โดยให้ดำเนินการภายใน 24 มกราคมนี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาวได้ยื่นหนังสือคัดค้านการตั้งโรงงานแป้งมันสำปะหลังของบริษัท ขอนแก่นสตาร์ช จำกัด ต่อศาลปกครองขอนแก่น เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ได้ใบอนุญาตตั้งโรงงานไม่โปร่งใส และขอให้ถอนใบอนุญาตตั้งโรงานดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง
จากนั้นเมื่อเวลา 12.30 น. นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสุชัย บุตรสาระ นายอำเภอน้ำพอง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกับตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหิน ณ ห้องประชุมเสียงแคน ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยกลุ่มชาวบ้านยืนยันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นใช้อำนาจทางการปกครองตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
ซึ่งกลุ่มชาวบ้านหนองหารจางเป็นห่วงว่า การใช้น้ำจากห้วยเสือเต้นของโรงงานแป้งมันนั้นจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นห่วงเรื่องปริมาณการใช้น้ำของโรงงานแป้งมัน จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ในครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอน้ำพองหรือไม่
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ให้ข้อมูลกับกลุ่มชาวบ้านว่า ไม่สามารถใช้อำนาจปกครอง สั่งการตรวจสอบขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ในการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานได้ เพราะเท่ากับละเมิดอำนาจศาลปกครอง ซึ่งข้อสรุปนั้นให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน และตรวจสอบการใช้น้ำจากห้วยเสือเต้น โดยโครงสร้างของคณะกรรมการประกอบด้วยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง 10 คน และฝ่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ 10 คน มีนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นรับปากด้วยวาจาว่าจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่บริเวณที่ตั้งโรงงานและพื้นที่ชุ่มน้ำห้วยเสือเต้นด้วย ทำให้กลุ่มชาวบ้านพอใจและสลายการชุมนุมในที่สุด