เลย - กรรมการสิทธิฯ ลุยตรวจสอบเหมืองทองบริษัททุ่งคำ หลังชาวบ้านร้องบ่อเก็บกากแร่พัง ไซยาไนด์ทะลักลงที่นาแหล่งน้ำสาธารณะจนไม่กล้าใช้น้ำ “นพ.นิรันดร์” จวกยับ จังหวัดไม่จริงใจแก้ปัญหา ทั้งที่ตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกายชาวบ้านจำนวนมาก
วันนี้ (19 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะเดินทางเข้าตรวจสอบการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย หลังชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองทำหนังสือร้องเรียนว่าคันดินบ่อเก็บกักกากแร่พังทลายเป็นบางจุด ทำให้น้ำเสียที่เต็มไปด้วยสารไซยาไนด์ไหลทะลักลงสู่พื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ด้านล่าง จนชาวบ้านไม่กล้านำน้ำขึ้นมาอุปโภค บริโภค หรือจับสัตว์น้ำขึ้นมารับประทาน เพราะเกรงว่าจะปนเปื้อนสารพิษ ซึ่งทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้สั่งปิดโรงงานเป็นการชั่วคราวจนถึงขณะนี้
ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบภายในเหมืองทอง นายสุรพงษ์ ลิมปัชโยภาส ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการบริษัท ได้เป็นผู้นำชม และให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการ โดยมีชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งหลังจากลงพื้นที่ในหมู่บ้าน แหล่งน้ำ และพื้นที่ทางการเกษตรแล้ว คณะอนุกรรมการได้เข้าประชุมที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อรับฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนผู้ประกอบการ โดยมีชาวบ้านร่วมรับฟังและร้องเรียนปัญหาต่อที่ประชุมด้วย
นพ.นิรันดร์กล่าวภายหลังประชุมว่า จากการตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการมีความหละหลวมหลายประการในมาตรการแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนเกิดปัญหากับชาวบ้าน ซึ่งก่อนหน้านั้นทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ทักท้วงและตักเตือนมาแล้วว่าปริมาณน้ำในบ่อเก็บกากแร่มีมากเกินไปทำให้คันดินทรุดตัวพังทลายลงมาได้ ซึ่งจะตรวจสอบว่าหลังถูกตักเตือนแล้วผู้ประกอบการได้ตระหนักและปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง เพราะกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้สั่งปิดกิจการชั่วคราวจนกว่าจะซ่อมแซมเสร็จ แต่ทราบว่าชาวบ้านไม่มั่นใจว่าจะไม่มีการรั่วซึมลงมาอีกเพราะผู้ประกอบการไปสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำเดิมของชาวบ้าน
“ขณะนี้บริษัทกำลังเดินเรื่องขออนุญาตเปิดเหมืองอีกหนึ่งแปลงที่อยู่ใกล้กัน ขณะที่ปัญหาเก่ายังแก้ไขไม่ได้ ผมเห็นว่าควรหยุดกระบวนการไว้ก่อนเพื่อลดการเผชิญหน้า เพราะขณะนี้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่คัดค้าน กับผู้ประกอบการเอง และคนในชุมชนเดียวกัน”
นพ.นิรันดร์กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำข้อมูลที่ได้และขอเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ ที่ให้อนุญาตบริษัทเข้าใช้พื้นที่ ซึ่งทราบว่ากำลังจะหมดอายุในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ และปัญหาข้อพิพาทกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ที่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีที่บริษัทค้างจ่ายเงินค่าเช่าที่ดินในส่วนพื้นที่ตั้งโรงงานและสำนักงานภายในเหมืองเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลให้ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2551 หรือไม่ หากละเมิดมติ ครม.จริง บริษัทก็ต้องยุติการทำเหมือง
“เร็วๆ นี้จะเชิญปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าชี้แจงที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของชาวบ้านรอบเหมืองทองคำแห่งนี้ด้วย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.นิรันดร์ยังได้ตำหนิการทำหน้าที่ของทางจังหวัดว่าแก้ปัญหาในเชิงรับมากเกินไป ควรเข้าถึงต้นตอปัญหาให้มากกว่านี้ อย่างกรณีที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกายของประชาชนจำนวนมาก และพบผู้ป่วยอีกหลายรายจนต้องออกประกาศให้เลิกใช้น้ำ และเลิกรับประทานสัตว์น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเมื่อปี 2550 ทางจังหวัดต้องเร่งเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจังว่าสาเหตุมาจากเหมืองทองหรือไม่อย่างไร
ด้านนายสุรพงษ์ชี้แจงว่า ทางเหมืองได้ปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ส่วนการรั่วซึมของบ่อเก็บกักกากแร่นั้น น้ำไม่ได้ไหลออกสู่ด้านนอกแต่อย่างใด เพราะทางเหมืองได้ทำคันดินป้องกันไว้อีกชั้นหนึ่ง พร้อมกับสูบน้ำที่รั่วไหลออกกลับเข้าบ่อเก็บกากแร่ตามคำแนะนำของรองผู้ว่าราชการจังหวัด และตรวจสอบความแข็งแรงของคันดินโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างน้ำและดินจากบริเวณที่รั่วไหลออกมาตรวจสอบ และขณะนี้ได้ซ่อมแซมคันดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว