xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวทีถกเหมืองทองอัคราฯ ขยายบ่อเก็บกาก NGO-ชาวบ้านถกดุเดือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ เปิดเวทีถกเหมืองแร่ทองคำฯอัคราไมนิ่งฯ ขยายบ่อเก็บกากแร่ ก่อนสรุปผล 20 กันยายนนี้ ระดม NGO ร่วมชาวบ้านถกกันดุเดือด จี้ใส่ใจสุขภาพคนในชุมชนมากขึ้น

นายณรงค์ ยืนยงหัตถภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมีส่วนร่วม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ( กพร. ) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกันจัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำความเห็นประกอบ “โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร” อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เวลาตลอดวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ย. 55 ที่ผ่านมา หลังจากวันที่ 4 ก.ย. 55 ได้จัดเวทีที่ห้องประชุมโรงแรมพิจิตรพลาซ่า และ 9 ก.ย. 55 จัดที่ห้องประชุมที่ทำการอำเภอวังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ มาแล้ว

เนื่องมาจากเหมืองแร่ทองคำอัคราไมนิ่งมีพื้นที่สัมปทานบัตรในการขุดหาแร่ทองคำอยู่ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และขณะนี้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จะมีโครงการลงทุนเพิ่มเติมอีกกว่า 500 ล้านบาท บนพื้นที่เกือบ 1 พันไร่ ในเขต ต.เขาเจ็ดลูก เพื่อจะสร้างบ่อเก็บกากแร่ ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผลกระทบของสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ตามกฎหมายมาตรา 67 ว่าด้วยเรื่องกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งของโครงการ

สำหรับการเปิดเวทีครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 600 คน ล้วนเป็นแกนนำชาวบ้านและกลุ่ม NGO นักอนุรักษ์ รวมถึงสื่อมวลชนก็มาร่วมตั้งวงเสวนาด้วย โดยหนึ่งในผู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำอัคราไมนิ่ง คือ น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง และนายพินิจ สารภูมี อาศัยอยู่หมู่ 9 บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร มีบ้านอยู่ห่างจากโครงการดังกล่าวประมาณ 1 กม.ได้แสดงความคิดเห็นว่า การก่อสร้างบ่อเก็บกากแร่ดังกล่าวเกรงว่าจะส่งผลต่อคุณภาพอากาศที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละออง รวมถึงเสียงของเครื่องจักรกล และน้ำเสียที่อาจรั่วซึมส่งผลต่อน้ำใต้ดินที่ชาวบ้านใช้อุปโภค-บริโภค รวมถึงเมื่อมีภาคอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เกิดขึ้นก็จะมีการกว้านซื้อที่ดิน ทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงไป

รวมถึงได้ตำหนิว่าที่ผ่านมาบริษัท อัครา ไมนิ่ง ซึ่งเป็นการลงทุนของคนไทย 51% และเป็นชาวออสเตรเลีย 49% ตักตวงผลประโยชน์และกำไรไปมากมาย แต่ไม่เคยใส่ใจดูแลชาวบ้านแถบนั้นเลย

น.ส.สื่อกัญญา บอกว่า ใจจริงแล้วก็ไม่อยากคัดค้าน แต่อยากให้ใส่ใจดูแลชุมชนกันบ้าง อีกทั้งอยากให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมบริหารจัดการเงินภาษีที่ย้อนกลับมาสู่ท้องถิ่นปีละหลายร้อยล้านบาท เพราะที่ผ่านมาระบบราชการนำไปบริหารจัดการแก้ไขปัญหาไม่ตรงใจชาวบ้าน และมีการทุจริตเกิดขึ้นมากมาย

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายใบอนุญาตของบริษัท อัครา ไมนิ่ง ก็ได้ชี้แจงในเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาบริษัท อัครา ไมนิ่ง ได้จ่ายภาษีค่าภาคหลวงให้รัฐบาลไปแล้วไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท และคาดว่าในปี 55/56 ก็จะจ่ายอีกประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่ง 20% จะกระจายลงสู่ อบต.ในพื้นที่ที่ดำเนินกิจการ และในแต่ละปีก็มีการตั้งเงินกองทุนพัฒนาตำบล ต.เขาเจ็ดลูก จ.พิจิตร และ ต.ท้ายดง จ.เพชรบูรณ์ อีกปีละ 10 ล้านบาท โดยมีพันธะผูกพันยอดเงินนี้เก็บสะสม 10 ปี เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเวทีประชาคมชาวบ้านรวมถึงไตรภาคี ก็สามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้ได้ทันที อีกทั้งการมีเหมืองแร่ทองคำอัคราไมนิ่งก็ก่อให้เกิดการจ้างงานชาวบ้านเกือบ 1 พันคน ซึ่งล้วนได้ค่าแรงสูงกว่าแรงงานขั้นต่ำทั้งสิ้น

ด้านนายสุรพล สว่างโลก อายุ 45 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 บ้านด่านช้าง ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งบ้านอยู่ห่างจากเหมืองแร่ทองคำอัครา ไมนิ่ง 4 กม. ก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าขอสนับสนุนให้มีการดำเนินกิจการต่อไป อีกทั้งที่ผ่านมาไม่เคยได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง ตรงกันข้ามกลับได้ประโยชน์สู่ชุมชน เพราะอัครา ไมนิ่ง ได้นำเงินไปช่วยสร้างวัด สร้างโรงเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย

น.ส.เสาวนีย์ ตันตระกูล อายุ 55 ปี อยู่หมู่ 8 บ้านนิคม ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งมีบ้านอยู่ห่างเหมืองแร่อัครา ไมนิ่ง เพียงแค่ 300 เมตร กล่าวสนับสนุนว่า ทุกวันนี้มีรายได้จากการรับจ้างทำงานในเหมือง อีกทั้งเห็นว่าไม่เคยได้รับความเดือดร้อนใดๆ ที่หลายคนมักพูดว่าได้รับผลกระทบจากเสียงดังเพราะการระเบิดหิน แท้ที่จริงแล้วแทบไม่มีผลกระทบอะไรเลย เสียงดังจากท่อไอเสียของมอเตอร์ไซค์ที่วัยรุ่นขับรถซิ่งในหมู่บ้านยังดังกว่าการระเบิดหินหลายสิบเท่า และกล่าวโจมตีพวกที่พูดว่าบ้านอยู่ห่างเหมืองอัครา ไมนิ่งตั้งไกล แต่กลับโวยวายเสียเป็นเรื่องใหญ่โต

นายเฉลิมชาติ ขวัญแก้ว อายุ 42 ปี อยู่หมู่ 8 บ้านนิคม ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งบ้านอยู่ห่างจากเหมืองแร่ทองคำอัครา ไมนิ่ง 2 กม. กล่าวว่า ไม่เคยกังวลเรื่องสารพิษหรือน้ำใต้ดินแต่อย่างใด ทุกวันนี้ที่บ้านก็ใช้น้ำจากในบ่อนำมาอุปโภคและบริโภคก็ไม่เห็นเป็นอะไร แถมทุกเดือนก็มีนักวิชาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจก็เป็นปกติทุกอย่าง ตามแนวคันดินที่สูงกว่า 3 เมตรที่บริษัท อัครา ไมนิ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นแนวเขตกันกระทบก็มีการปลูกพืชที่กินได้ ตนเองและเพื่อนบ้านหลายคนก็ไปเก็บหน่อไม้มาต้มจิ้มน้ำพริกกินนานหลายปีแล้วก็ยังมีสุขภาพแข็งแรง แถม 1 ปี 1 ครั้งทีม CSR ของ บ. อัคราฯ ก็พาไปเจาะเลือด ก็ไม่พบสารพิษแต่อย่างใด

สำหรับการจัดเวทีในครั้งนี้มีชาวบ้าน-NGO ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากกว่า 40 คน ลุกขึ้นสลับสับเปลี่ยนอภิปรายกันอย่างดุเดือด โดยผลจากการดำเนินการในครั้งนี้นายพันธุ์ลพ หัตถโกศล ประธานกรรมการ และนายชัยโรจน์ รัตนกวิน, นายวิศิษฏ์ อภัยทาน,นายกิจจา เรืองไทย, นายภิญโญ มีชำนะ กรรมการ ผู้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จะได้รวบรวมความคิดเห็นทุกภาคส่วนเพื่อจัดทำเป็นเอกสารสรุปเสนอให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ภายในวันที่ 20 ก.ย. 55 เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจพิจารณาอนุมัติการขยายกิจการของเหมืองแร่ทองคำอัคราไมนิ่ง จ.พิจิตร ต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น