ยืดเยื้อมานานนับปี กรณีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ระหว่างสร้างไม่สร้าง หลังจากรัฐมีแผนเตรียมท่มงบ กว่า 2 หมื่นล้านบาท กับการปกป้องหวงแหนพื้นที่ทำกินและวิถีชุมชนของชาวประมงท้องถิ่น
เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการประชุม คณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีนายสนธิ คชวัฒน์ เลขานุการและอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีการแจ้งในที่ประชุมว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศ(กทท.) ได้ออกมาชี้แจง ขณะนี้ ได้มีการขยายการเวลาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ออกไปก่อน เนื่องจากติดปัญหาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านมีรวมตัวคัดค้าน
พร้อมทั้ง การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ได้มีการเตรียมแผนสำรอง เพื่อจัดหาพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ หรืออาจขอใช้พื้นที่ของกองทัพเรือที่ ท่าเรือจุกเสม็ด ซึ่งเคยเป็นท่าเรือพาณิชย์สัตหีบเดิม และ กทท.เคยบริหาร แต่เมื่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเสร็จ ได้โอนคืนให้กองทัพเรือไป นอกจากนี้ ยังเห็นว่าพื้นที่บริเวณเกาะสีชังเป็นที่น้ำลึก สามารถนำมาก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์ได้เช่นกัน
เนื่องจาก กทท.เห็นว่าหากจะสร้างท่าเรือบนเกาะสีชัง จะทำลักษณะที่มีท่าเทียบเรือยื่นเข้าไปในทะเลเพื่อรองรับเรือสินค้า และอาจจะเชื่อมต่อท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือพาณิชย์ดังกล่าว โดยก่อสร้างเป็นสะพานเชื่อม หรือทำอุโมงค์ลอดใต้ทะเลเชื่อมระหว่างกัน
ส่วนสาเหตุที่เลือกจะพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบนั้น เพราะเป็นพื้นที่ที่มีน้ำลึก อีกทั้งมีความพร้อมในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งได้ทุกระบบ ใกล้สนามบินอู่ตะเภา รวมทั้งหากพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบจะช่วยประหยัดงบประมาณได้จำนวนมาก โดย กทท.สามารถลงทุนพัฒนาหน้าท่าเรือ ขณะที่มีระบบสาธารณูปโภคหลังท่าเรือรองรับอยู่แล้ว เพียงแค่ปรับปรุงเพิ่มเติมไม่มาก ก็จะสามารถทำกิจกรรมได้ทันที หากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ไม่เกิด
อย่างไรก็ตาม หากทางการท่าเรือฯ ยังไม่สามารถให้ตำตอบ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และ ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาท่าเรือ เฟส 1 และเฟส 2 ไม่ได้
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ดำเนินการได้ยาก เนื่องจากต้องขุดทรายเพื่อถมทะเล ทำท่าเรือยืนออกไปในทะเล พื้นที่หลายร้อยไร่ อาจกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยน พื้นที่ชายฝั่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ และอาจส่งผลกระทบไปถึงเมืองได้ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งชาวประมงชายฝั่ง ในบริเวณดังกล่าวต้องไม่ยอมให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ในขณะนี้สิ่งที่ทางการท่าเรือฯ ควรจะต้องเร่งดำเนินการ คือการเยี่ยวยาประชาชนที่อยู่โดนรอบพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งทราบว่าขณะนี้ได้มีการอนุมัติงบมาแล้ว 19 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการเบิกจ่าย อยู่ในระหว่างขั้นการพิจารณา ตามที่ชาวบ้านเสนอโครงการต่างๆที่อยากให้เกิดในชุมชน
นานสนธิ กล่าวอีกว่า ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 2 ในปัจจุบันยังพัฒนาไม่เต็มศักยภาพ คาดว่าอีก 6 ปี จะพัฒนาเต็มพื้นที่ ดังนั้นทางการท่าเรือฯ จึงมีแผนที่จะพัฒนาท่าเรือเฟส 3 ขึ้นเพื่อเตรียมรับ แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ในการพัฒนา เฟส 1-2 ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ชาวบ้านจึงมีการรวมตัวกันคัดค้าน โดยขาดความเชื่อมั่น ในการดำเนินงานของการท่าเรือ
ส่วนท่าเรือทวาย ที่กำลังมีโครงการ เชื่องต่อกับทางไทยนั้น ซึ่งชาวบ้านบางละมุงและ แหลมฉบังกังวลอยู่ว่าอาจจะมาเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบัง โดยการขยายพื้นที่เฟส 3 เพื่อรองรับท่าเรือทวาย และรัฐบาลอาจจะหันกลับมาพัฒนาเฟส 3 ต่อ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลคงจะทำเองไม่ได้ เนื่องจากหากรัฐบาลทำเท่ากับเป็นการเอาเงินของประเทศ ไปลงทุนให้กับประเทศอื่นไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ
ด้าน นายรังสรรค์ สมบูรณ์ ชาวประมงพื้นบ้านบางละมุง กล่าวว่า ตนมองแบบชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง สำหรับกระแสการเปลี่ยนพื้นที่การพัฒนาเรือเฟส 3 ไปเป็นท่าเรือจุกเสม็ด และที่เกาะสีชังนั้นเป็นเรื่องของการ “หยุดพักยก” เท่านั้น หรืออาจจะเป็นเพียงการชะลอ โครงการ เพื่อลดกระแสการคัดค้าน แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับพวกเรา ให้สามารถหยุดพักเหนื่อย เพื่อตั้งหน้าทำมาหากินกันต่อไป แต่พวกเราชาวประมงพื้นบ้านทุกคน ที่ได้รวมตัวกันคัดค้านโครงการพัฒนาท่าเรือเฟส 3 ก็ได้ไม่นิ่งนอนใจ
ทั้งนี้ หากเริ่มมีการดำเนินการต่อ หรือจะกลับมารื้อฟื้นกันอีกครั้ง พวกเราก็พร้อม ที่จะลุกขึ้นต่อสู้ทุกเวลา เนื่องจากกระแสการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ยังไม่นิ่งจริง ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า จะมีการยกเลิกโครงการดังกล่าว
อีกทั้งยังมี คำยืนยันของบุคคลระดับสูงในกระทรวงคมนาคมว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ก็ต้องเกิด แต่จะเร็วหรือช้าเท่านั้น ทำให้พวกเราไม่มั่นใจ แต่หากเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ พวกเราก็พร้อมเดินหน้าต่อสู้ทันที เนื่องจากการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 1-2 ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการถูกเวนคืนที่ดินและไม่มีที่อยู่อาศัย และได้รับผลกระทบด้านการประกอบอาชีพประมง สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เกิดตะกอนเลน และการกัดเซาะแนวชายฝั่ง ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีการฟื้นฟูธรรมชาติกลับมาแล้ว แต่ชาวบ้านยังวิตกกังวลเกี่ยวกับแผนการขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านหมดไป
อนึ่ง โครงการ ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟสที่ 3 มีพื้นที่ครอบคลุมเทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลตำบลบางละมุง เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย และตำบลนาเกลือของเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยจะใช้พื้นที่ทางทะเลหน้าอ่าวบางละมุง 4,125 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การถมทะเลเป็นท่าเรือ 1,445 ไร่ พื้นที่บ่อเก็บดินเลน 1,800 ไร่ และพื้นที่สำหรับถมในอนาคตอีก 880 ไร่
ทั้งนี้ จะมีการขุดลอกร่องน้ำรอบพื้นที่กว้าง 600 เมตร ยาว 7,500 เมตร และลึก 18.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง รวมถึงจัดให้มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นท่าเรือหลักและท่าเรือชายฝั่ง และเขื่อนกันทรายปากคลอง ความยาวรวมกัน 3,100 เมตร งบประมาณในการดำเนินการ กว่า สองหมื่นล้านบาท
สุดท้าย บทสรุป ของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 คือ ระงับโครงการ ชะลอโครงการ หรือแค่พักยก อย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ ...เรื่องนี้ จะเป็นอย่างไรคงต้องวัดใจผู้ บริหารประเทศต่อไปว่าจะมีวิสัยทัศน์ แค่ไหน ระหว่างการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เพื่อรองรับการเจริญเติบ ของการขนส่งทางทะเลทีมีมูลค่ามหาศาล กับพื้นที่ทำกินและวิถีชีวิตของชาวประมงชายฝั่ง ต้องขาดพื้นที่ทำกิน ขาดอาชีพ ขาดที่อยู่อาศัย .....