xs
xsm
sm
md
lg

บสย.โคราชค้ำสินเชื่ออีสานใต้ทะลุ 5.6 พันล้าน เร่งช่วยเอสเอ็มอีเหยื่อ 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้ช่วยผู้จัดการ บสย. สำนักงาน สาขา นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - บสย.นครราชสีมาเผยยอดค้ำประกันสินเชื่ออีสานใต้ 10 จว.ทะลุเป้ากว่า 5,600 ล้าน โคราชแชมป์ 1,500 ล้าน กลุ่มจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ค้าของเก่านำลิ่ว พร้อมเดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีเหยื่อค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

วันนี้ (7 ม.ค.) นางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้ช่วยผู้จัดการบรรษัท ประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จำกัด (บสย.) สำนักงานนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในปี 2555 บสย.สาขานครราชสีมามียอดค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ในพื้นที่รับผิดชอบ 10 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ผ่านทางสถาบันการเงินต่างๆ รวมกว่า 1,845 ราย เป็นวงเงิน 5,601 ล้านบาท โดยจังหวัดที่ได้รับการอนุมัติค้ำประกันมากที่สุดคือ จ.นครราชสีมา 540 ราย วงเงิน 1,579 ล้านบาท รองลงมาคือ จ.อุบลราชธานี 257 ราย วงเงิน 747 ล้านบาท จ.ร้อยเอ็ด 180 ราย วงเงิน 545 ล้านบาท จ.ชัยภูมิ 164 ราย วงเงิน 510 ล้านบาท และจ.บุรีรัมย์ 128 ราย วงเงิน 474 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มการผลิตที่ บสย.ให้การค้ำประกันสูงสุด 5 อันดับ คือ 1. กลุ่มผลิตสินค้าและการค้าอื่น เช่น จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ค้าของเก่า จำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ วงเงิน 1,004 ล้านบาท 2. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ค้าส่งเครื่องดื่มทุกชนิด ผลิต-จำหน่ายอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ จำหน่ายอาหารสัตว์ วงเงิน 689 ล้านบาท

3. กลุ่มยานยนต์ อาทิ อู่ซ่อมรถยนต์ จำหน่ายอะไหล่รถยนต์รถจักรยานยนต์ จำหน่ายยางรถยนต์ สินค้าประดับยนต์ วงเงิน 586 ล้านบาท 4. กลุ่มเกษตรกรรม วงเงิน 529 ล้านบาท และ 5. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค วงเงิน 437 ล้านบาท

“จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคได้รับอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 540 ราย วงเงิน 1,579 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม”

นางปิยะธิดากล่าวว่า สำหรับแผนงานปี 2556 ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อในพื้นที่ 10 จังหวัดอีสานล่างไม่ต่ำกว่า 3,900 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการให้ความรู้และให้คำปรึกษากับเอสเอ็มอี โดยร่วมกับพันธมิตร เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้อยู่ได้ในภาวะที่มีการแข่งขันกันสูง ประกอบกับการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งหากมีการเตรียมความพร้อม มีหน่วยงานให้คำปรึกษาก็จะประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป และส่งเสริมให้เศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้

“อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีที่ บสย.ให้การส่งเสริมนั้นเป็นกิจการขนาดเล็ก มีลูกจ้างไม่มากนัก ดังนั้นการปรับตัวไม่น่าจะยาก”
กำลังโหลดความคิดเห็น