ประจวบคีรีขันธ์ - ปภ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ พร้อมรับมือลดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ จัดอบรมเสริมทักษะทีมกู้ชีพกู้ภัยให้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง และเหมาะสม เนื่องในวันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี 2555
วันนี้ (21 ธ.ค.) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ จัดอบรมเสริมทักษะทีมกู้ชีพกู้ภัยรับมือ ลดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2555 ต้อนรับปีใหม่ 2556 ที่บริเวณสวนสาธารณะ ข้างสนามกีฬากลาง อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายสุทธิพงษ์ เทิดรัตนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะการกู้ชีพกู้ภัย ณ จุดเกิดเหตุ แก่อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 พัฒนาบุคลากรทีมกู้ชีพกู้ภัยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงหน่วยเผชิญเหตุทุกระดับ ให้มีทักษะ ความรู้ความสามารถ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างถูกต้อง และนำส่งสถานบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย
นายสุทธิพงษ์ เทิดรัตนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจรเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตทรัพย์สิน และระบบเศรษฐกิจปีละกว่า 2 แสนล้านบาท สาเหตุของการเสียชีวิตนั้นเกิดจากอุบัติเหตุทางจราจรที่ยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ
จากการรวบรวมรายงานผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา ของโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่า มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจำนวน 331 ราย เสียชีวิต จำนวน 3 ราย ประกอบกับแผนการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553-2557 และแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติปีงบประมาณ 2556 กำหนดให้การบริการการแพทย์ฉุกเฉินต้องมีคุณภาพ และได้มาตรฐาน เน้นการปฏิบัติงาน 3 เร็ว 2 ดี คือ 1.แจ้งเร็ว 2.รับเร็ว และ 3.ส่งเร็ว
ส่วน 2 ดี คือ 1.คุณภาพการให้บริการทั้งใน และนอกโรงพยาบาลในภาวะปกติดี และ 2.คุณภาพการให้บริการในภาวะที่เกิดภัยพิบัติ และภาวะฉุกเฉินดี ซึ่งได้เน้นการทำงานเป็นทีม และการเตรียมความพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ
สำหรับการฝึกซ้อมในวันนี้ เป็นการจำลองสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถชนกันระหว่างรถตู้ กับรถเก๋ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการระดมทีมกู้ชีพกู้ภัย ให้การช่วยเหลือเร่งด่วน และต้องใช้เครื่องมือในการนำผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากรถเพื่อนำส่งสถานบริการสาธารณสุข
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ อุปกรณ์ยก เคลื่อนย้าย และยึดตรึง Kendrick Extrication Device (KED) ซึ่งปกติราคาจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันบาท แต่เนื่องจากงบประมาณในการช่วยเหลือมีน้อย ทางมูลนิธิกู้ภัยสว่างเมธีธรรมสถาน สามร้อยยอด จึงได้คิดค้น และประยุกต์ทำ KED (เค-อี-ดี) เอง จะมีราคาอยู่ที่ไม่เกิน 2 พันบาท โดยใช้ไม้ไผ่แทนแกนอะคริลิก และนำผ้าใบมาเย็บ เจ้าหน้าที่กู้ภัยกล่าวว่า ใช้ไม้ไผ่ประยุกต์ดีกว่า เนื่องจากแกนอะคริลิกเมื่อใช้หลายๆ ครั้งเกิดการโค้งงอ ทำให้ต้องจัดซื้ออันใหม่ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย KED ไม้ไผ่เหมาะกับผู้บาดเจ็บที่อยู่ในท่านั่ง เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ หรือติดในรถ