xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.จับมือท้องถิ่นระดมสมองแก้ปัญหาน้ำท่วมภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ม.อ.ภูเก็ต จับมือท้องถิ่นระดมสมองจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาน้ำท่วม

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (13 พ.ย.) ที่ห้องนนทรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวิโรจน์ ภู่ต้อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “จัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภูเก็ต” ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตจัดขึ้น โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองกะทู้ เทศบาลตำบลวิชิต และเทศบาลตำบลรัษฎา ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชน ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วม

ทั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกำหนดประเด็นหลักของการหารือ ประกอบด้วย การวางระบบการเตือนภัยล่วงหน้า และเตรียมความสามารถในการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน, การปรับปรุงข้อมูลเรื่องภัยน้ำท่วม และความเปราะบาง รวมถึงการเตรียมตัวและการประเมินความเสี่ยง, การลงทุนสร้างและดูแลปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อระบายน้ำที่ช่วยลดความเสี่ยง, ประเมินความปลอดภัยของโรงเรียน และสถานบริการทางสาธารณสุขรวมถึงการปรับปรุงหากจำเป็น, การปกป้องระบบนิเวศ และปราการธรรมชาติ เพื่อบรรเทาภัย และรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเตรียมการเรื่อง การจัดโครงสร้าง และการประสานงานเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจบทบาท และความรับผิดชอบ และประเด็นอื่นๆ ที่จำเป็น

นายวิโรจน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา จ.ภูเก็ตประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบในวงกว้าง และทางคณะผู้บริหารเทศบาลนครภูเก็ตได้ให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก ประกอบกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้มีการทำโครงการศึกษาประเมินความเปราะบางของเมืองภูเก็ต โดยทางมหาวิทยาลัยฯ รับดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ การบริหารจัดการน้ำ กับการแก้ปัญหาน้ำท่วม

“ก่อนหน้าที่จะมีการจัดประชุมนั้น ได้มีการจัดทำแบบสอบถามประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 400 ชุด พบว่า กลุ่มเป้าหมายได้บอกสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมในช่วงดังกล่าวว่า มาจากฝนตกมาก น้ำระบายไม่ทัน มีน้ำทะเลหนุนและไม่มีการขุดลอกคลอง นอกจากนี้ กว่า 96% บอกว่าไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่วนใหญ่ประมาณ 57% ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับน้ำท่วมมาก่อน จึงทำให้ไม่มีการเตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในการแก้ปัญหาจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาภาพรวม ซึ่งจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความพร้อมรับมือให้แก่ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนผู้มีส่วนร่วมได้มีความตื่นตัวคิดหาวิธีการในการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยใช้เรื่องน้ำท่วมเป็นกรณีศึกษา

กำลังโหลดความคิดเห็น