xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ นิคมฯ ดูการซ้อมแผนอพยพหนีน้ำท่วมที่นิคมฯ สหรัตนนคร กรุงเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระนครศรีอยุธยา - ผู้ว่าการการนิคมฯ ลงพื้นที่กรุงเก่า ดูการซ้อมแผนฉุกเฉินในการอพอพผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม และดูการเตรียมความพร้อมแนวทางการป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมฯ สหรัตนนคร ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้าน้อย แม่น้ำลพบุรี  และแม่น้ำป่าสัก  ระดับน้ำลดลง และมีบางพื้นที่น้ำล้นตลิ่งเล็กน้อย

วันนี้ (26 ก.ย.) นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เดินทางมาที่นิคมฯ สหรัตนนคร อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าฯ กนอ. นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดูการซ้อมแผนฉุกเฉินในการอพอพผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม และดูการเตรียมความพร้อมแนวทางการป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมฯ สหรัตนนคร

โดยได้เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม บูรณาการกับทุกภาคส่วนซ้อมแผนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุอุทกภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะมีมากในช่วงฤดูฝนนี้ โดยได้จำลองเหตุการณ์ระดับน้ำแนวถนนด้านหน้านิคมฯ เป็นเกณฑ์ จำนวน 3 ระดับ คือ 1.สีฟ้า ระดับน้ำต่ำกว่าถนนมากกว่า 1 เมตร หรืออยู่ในภาวะปกติ 2.สีเหลือง ระดับน้ำต่ำกว่าถนนระหว่าง 0.5-1 เมตร อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมรับมือ

และ 3.สีส้ม ระดับน้ำต่ำกว่าถนนไม่เกิน 0.5 เมตรซึ่งอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม ขณะที่การก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของนิคมฯ มีความคืบหน้าร้อยละ 25 โดยได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาดำเนินการในการสร้างแนวกำแพงกั้นน้ำ และได้เดินทางไปดูเครื่องสูบน้ำที่จะทำการสูบน้ำออกหากฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมในนิคมฯ ก็จะใช้เครื่องสูบน้ำขนาด 16 นิ้ว ที่สามารถสูบน้ำ 1,200 คิวต่อชั่วโมง จำนวน 4 ตัว และขนาด 12 นิ้ว อีก 2 ตัว ซึ่งจะช่วยในการสูบน้ำออกจากในนิคมอุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำได้

นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะบูรณาการกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซ้อมแผนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุอุทกภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เพื่อให้แผนที่กำหนดไว้ปฏิบัติได้จริง สามารถรับได้กับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น โดยเน้นไปที่ความปลอดภัยของคนในพื้นที่ ผู้พักอาศัยรอบนิคมฯ พนักงาน และผู้บริหารโรงงาน โดยเฉพาะ ชีวิต และทรัพย์สินต้องอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย

แม่น้ำที่มีผลต่อนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครมากที่สุด คือ แม่น้ำป่าสัก และลพบุรี จะเป็นตัวบอกว่าน้ำอยู่ในระดับไหน เราควรทำอย่างไร รวมถึงการสื่อสารระหว่างเหตุที่เกิดขึ้นคือ การฝึกซ้อม เส้นทางไหนบ้างที่เราจะใช้ในช่วงอุทกภัย  จุดไหนที่ปลอดภัยที่ต้องเคลื่อนย้ายเข้าไป  การจัดการภายใน เช่น เครื่องจักร  สารเคมีอันตราย  จะฝึกซ้อมไปด้วย ส่วนความคืบหน้าของการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ขณะนี้ การก่อสร้างคืบหน้าไปร้อยละ 25  จะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้  โดยเป็นการสร้างแบบชั่วคราวเฉพาะพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งมีระยะทางทั้งหมดกว่า 6 กิโลเมตร
 
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีระดับน้ำล้นตลิ่งเล็กน้อย  แม่น้ำเจ้าพระยาที่ประตูระบายน้ำบางกุ้ง ตำบลบ้านกุ่ม   ประตูระบายน้ำ   ซี  36  คลองบางบาล    โรงสูบน้ำที่ 4 ตำบลน้ำเต้า  อำเภอบางบาล  ประตูระบายน้ำบ้านแขก ตำบลบางไทร  โรงสูบน้ำที่  8  ตำบลกระแชง อำเภอบางไทร  แม่น้ำน้อย ประตูระบายน้ำกุฎี  ตำบลกุฎี  อำเภอผักไห่   ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย  แม่น้ำลพบุรี  และแม่น้ำป่าสัก  ระดับน้ำลดลง
 
ขณะที่ปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อน ผ่านจังหวัดนครสวรรค์อยู่ที่  1,429 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยา 1,453 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 150  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  และเขื่อนพระรามหก  228  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  โดยภาพรวมระดับน้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแม่น้าเจ้าพระยา  แม่น้าน้อย แม่น้าลพบุรี  และแม่น้าป่าสัก  ระดับน้ำลดลง




กำลังโหลดความคิดเห็น