xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ทบทวนแผนอุบัติภัยรับมือ 6 ภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“วิทยา” ห่วงไทย ภัยพิบัติบ่อย ทั้งแผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม สึนามิ สารเคมี เร่งประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ ทบทวนแผนการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ 6 เหตุการณ์ สร้างความมั่นใจในระบบบริการสาธารณสุข ดูแลผู้ประสบภัยอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย

วันนี้ (27 ส.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ที่ดูแลงานด้านสาธารณภัย จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ และกรมวิชาการ เพื่อทบทวนแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยต่างๆ ในด้านการแพทย์และการสาธารณสุขประจำปี 2555 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2555 ว่า ในการเตรียมพร้อมแห่งชาติด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในปี 2555 เป็นการทบทวนแผนเตรียมความพร้อมรองรับสาธารณภัย หรืออุบัติภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ได้รับบริการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีความมั่นใจในระบบบริการสาธารณสุขในทุกระยะของการเกิดภัยอย่างทันท่วงที ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้มอบบนโยบายให้เจ้าหน้าที่จัดทำแผนให้ครอบคลุมพิบัติภัยทั้งหมดที่เคยปรากฏในประเทศไทยอย่างน้อย 6 เหตุการณ์ ได้แก่ 1.น้ำท่วม 2.น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม 3.ภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม 4.ภัยสึนามิ 5.ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย และ 6.ภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดน ซึ่งจะได้ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแผนงาน และวิธีการปฏิบัติจากสถานพยาบาลที่เคยอยู่ในเหตุการณ์จริงมาก่อน เพื่อพัฒนาปรับปรุงแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้เป็นแผนงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด

นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่า ขณะนี้อุบัติภัยต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และบ่อยกว่าในอดีต ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุขึ้นเมื่อใด อาจเป็นภัยทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม สึนามิ อุทกภัย หรือภัยจากน้ำมือมนุษย์ เช่น สงคราม เป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลมุ่งหวัง คือลดผลกระทบ ลดการสูญเสียของประชาชนให้น้อยที่สุด ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุดและปลอดภัย สร้างความมั่นใจทั้งคนไทยและต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานหรือสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง จะต้องมีทักษะการป้องกันสถานบริการ ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และให้การดูแลประชาชนที่ประสบภัยให้ทันต่อเหตุการณ์ บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกจังหวัดต้องมีการเตรียมความพร้อมเผชิญภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือเวลาใด

“สธ.ได้พัฒนาทีมและหน่วยบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับหน่วยเคลื่อนที่ไว้รองรับและแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เต็มกำลังในการรักษาพยาบาล การดูแลแบบองค์รวมทั้งด้านร่ายกาย จิตใจ และสังคม การควบคุมป้องกันโรคระบาด การฟื้นฟูสุขภาพกาย สุขภาพจิต และฟื้นฟูระบบสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ให้สะอาดปลอดภัยโดยเร็วหลังประสบภัย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น