xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” สั่ง สธ.16 จ.เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิทยา” กำชับ สธ.16 จังหวัด เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน ห่วง “ระนอง-ชุมพร-พังงา” ที่ฝนกระหน่ำต่อเนื่องเสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก มอบนโยบาย 4 ด้าน พร้อมให้รายงานผลทุกวัน

วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับนายแพทย์สาธารณสุขประจำจังหวัดใน 16 จังหวัด ที่ประสบภัยและเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา สตูล แม่ฮ่องสอน เลย กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และภูเก็ต ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขผู้ป่วยที่อาจเกิดจากภัยธรรมชาติ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
โดย นายวิทยา ได้เปิดโอกาสให้จังหวัดต่างๆ รายงานสถานการณ์ พบว่า มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ระนอง จ.ชุมพร และ จ.พังงา ที่ยังมีฝนตกต่อเนื่อง และมีบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก โดยที่ จ.ชุมพร ประสบภาวะน้ำท่วมใน 5 อำเภอ 20 ตำบล ซึ่งสาธารณสุขได้เตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมออกให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ส่วน จ.ระนอง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการเช่นกัน เบื้องต้นพบเพียงผู้เจ็บป่วยเล็กน้อย ทั้งนี้ มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ได้ระบุผลกระทบ 1 แห่ง ที่ ต.ดอนพลา อ.กระบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้ น้ำท่วมขัง 20 เซนติเมตร แต่ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สามารถให้บริการได้ ทำให้จนถึงขณะนี้มีความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ประสานขอชุดยาสามัญประจำบ้านมา ซึ่งทางกระทรวงจะนำส่งให้ในวันพรุ่งนี้ จำนวน 5,000 ชุด ส่วนเครื่องมืออื่นยังมีเพียงพอ เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆที่สถานการณ์ยังควบคุมได้อยู่

นายวิทยา เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานสาธารณสุขในทุกพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งในส่วนเครื่องมือและบุคลากรที่ต้องพร้อมออกให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังได้ย้ำให้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน หรือโรคไต ที่ต้องได้รับยาและการรักษาต่อเนื่องเป็นพิเศษ โดยคนได้สั่งการให้สถานพยาบาลทุกแห่งที่เสี่ยงประสบอุทกภัย จัดทำแผน 4 ด้าน คือ 1.แผนป้องกันสถานบริการไม่ให้เสียหาย โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ 2.แผนการสำรองทรัพยากรที่จำเป็นในการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล เช่น ออกซิเจน เวชภัณฑ์ยา อาหารผู้ป่วย ให้ใช้ได้อย่างน้อย 10 วัน 3.แผนการส่งต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก รวมทั้งผู้ป่วยในชุมชน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข สำรวจกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็ก และผู้ป่วยเรื้อรังที่นอนอยู่ที่บ้าน ไม่ให้ขาดยา เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยให้โรงพยาบาลจัดส่งยาไปให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด และ 4.แผนการปรับระบบบริการประชาชนหากน้ำท่วมจนไม่สามารถให้บริการได้ โดยให้รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ให้ส่วนกลางทุกวัน หากเกิดภาวะวิกฤติรุนแรงขึ้น จะได้เตรียมการช่วยเหลือขั้นสูงต่อไป และประชาสัมพันธ์ในกรณีที่ประชาชนเจ็บป่วยกะทันหัน สามารถโทรขอแจ้งขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ทางสายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น