xs
xsm
sm
md
lg

สคจ.รำลึก 23 ปีเขื่อนปากมูล-การจากไปของ “วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี-กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี รวมตัวสะท้อนปัญหาถอดบทเรียน 23 ปีแห่งการต่อสู้ และรำลึกการจากไป 5 ปี “วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” นักสู้เพื่อคนจน

ที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทยบ้านปากมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล และเครือข่ายนักวิชาการจาก 41 องค์กร จัดเวทีสาธารณะ 23 ปีการต่อสู้ของคนปากมูลกับเส้นทางการต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชน และรำลึก 5 ปี “วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” และผองเพื่อนผู้จากไปโดยมีการจัดเวทีการแสดงดนตรีสากล และพื้นบ้าน เวทีวิชาการ และเวทีเสวนาก้าวที่ผ่านมา และก้าวต่อไปของขบวนการภาคประชาชน

โดยมีนักวิชาการสิทธิมนุษยชน และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล สะท้อนปัญหาการดำรงชีวิตของคนลุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐที่ผ่านมา

นางสมปอง เวียงจันทร์ ประธานคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน (ชชช.) กล่าวว่า เริ่มต่อสู้หลังรัฐบาลอนุมัติให้สร้างเขื่อนปากมูลเมื่อปี 2532 เพราะเห็นตัวอย่างจากเขื่อนสิรินธรที่ชุมชนล่มสลาย จากโครงการพัฒนาของรัฐแ ละต่อมา น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นผู้เข้ามาต่อยอดให้ขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง แม้ไม่สามารถยับยั้งโครงการก่อสร้างเขื่อนปากมูลไว้ได้ แต่ก็ประสบความสำเร็จให้ ครม.มีมติเปิดประตูเขื่อนปีละ 4 เดือนคืนธรรมชาติให้แก่ชาวลุ่มน้ำเมื่อปี 2545 เป็นต้นมา แต่ขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านยังต้องเดินต่อไปเพราะภารกิจการเรียกร้องให้ประตูเขื่อนปากมูลถาวรยังไม่สำเร็จ

ขณะที่นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) ระบุถึงการต่อสู้ภาคประชาชนปัจจุบันหลายขบวนการที่ร่วมสู้มากับเขื่อนปากมูลหยุดไปแล้วทั้งที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเกิดความแตกแยกในขบวนการต่อสู้ของประชาชน ทำให้รัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ ผิดกับขบวนการต่อสู้ของชาวปากมูลที่ยังเข้มแข็ง ทำให้ข้อเรียกร้องหลายประการได้รับการแก้ไข

แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่ถือว่ากระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูลเป็นตัวอย่างที่ดีในประเทศนี้ ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการคสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงการจากไปของ น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นความสูญเสียที่เสียนักต่อสู้เพื่อคนจน เพราะหลายข้อเรียกร้องของชาวบ้านปากมูลประสบความสำเร็จ ทำให้รัฐมองเห็นความสำคัญของกระบวนการต่อสู้ภาคประชาชนที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน

แม้วันนี้จะไม่มี น.ส.วนิดา แต่ขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูลที่ทุกคนเป็นแกนนำเหมือนกันหมดยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับในช่วงเย็นวันเดียวกัน จะมีการขับเสภา และบทกวี รำลึกการเสียชีวิตของ น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ แกนนำชาวบ้านเขื่อนปากมูล ซึ่งประพันธ์โดยอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ส่วนเช้าวันที่ 16 ธ.ค.จะมีพิธีทำบุญตักบาตร และพิธีสืบชะตาแม่น้ำมูลของชาวบ้านเขื่อนปากมูลเพื่อระลึกถึงการมาของเขื่อนปากมูลที่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2532 หรือเมื่อ 23 ปีก่อนบริเวณบ้านหัวเหว่ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และหลังก่อสร้างเสร็จ เขื่อนปากมูลที่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุดที่ 136 เมกะวัตต์ ได้ทำลายวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ ทำให้วงจรสัตว์น้ำที่เคยหล่อเลี้ยงชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำในอดีตมีปริมาณลดลง ชาวบ้านต้องอพยพทิ้งถิ่นเข้าไปทำงานรับจ้างในตัวเมืองส่งผลกระทบด้านสังคมในระยะยาว

ชาวบ้านปากมูล จึงร่วมกับ น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ นักวิชาการจากองค์กรพัฒนาเอกชนลุกขึ้นสู้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อคืนธรรมชาติให้ลุ่มน้ำ กระทั่งปี 2545 รัฐบาลมีมติให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลปีละ 4 เดือน และปิดประตูเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า 8 เดือน แต่กลุ่มชาวบ้านปากมูลยังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวร แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล จึงมีการต่อสู้กันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น