ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่เผยผลตรวจ “หมู-ไก่-ปลา” จากร้านหมูกระทะ ไม่พบ “สเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปบี” เชื้อต้นเหตุผู้ป่วยเสียชีวิต แจงการตรวจสอบยังไม่จบ เหตุยังมีอีกหลายช่องทางที่เชื้อสามารถปนเปื้อน เตรียมขยายวงดู “สัตว์พาหะ-การจัดเตรียมอาหาร” ระบุยังกินหมูกระทะได้ แต่ต้องทำให้สุกก่อน
วันนี้ (11 ธ.ค.) ทพ.ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีมีผู้ป่วยเสียชีวิตหลังจากรับประทานหมูกระทะที่ จ.เชียงใหม่ว่า ล่าสุดผลการตรวจสอบเนื้อหมู ไก่ และปลาที่นำมาจากร้านที่ผู้เสียชีวิตไปรับประทานในห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบเชื้อสเตรปโตคอคคัส อะกาแลกเตีย(Streptococcus Agalactiae) หรือสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปบี ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต พบเพียงเชื้อสเตรปโตคอคคัสสายพันธุ์อื่นที่อาจทำให้อุจจาระร่วงได้ แต่ไม่ส่งผลให้เจ็บป่วยรุนแรงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเนื้อสัตว์ที่นำมาตรวจสอบเป็นเนื้อสัตว์คนละชุดกับที่ผู้ป่วยรับประทาน เนื่องจากเข้าเก็บตัวอย่างอาหารหลังจากผู้ป่วยไปรับประทาน 4-5 วันแล้ว ขณะนี้จึงยังไม่สามารถระบุว่าผู้ตายเสียชีวิตเนื่องจากการรับประทานหมูกระทะหรือเนื้อสัตว์ชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่เป็นข่าวได้ เนื่องจากการตรวจสอบยังไม่สิ้นสุด
ส่วนการสืบสวนหาสาเหตุจากนี้ไปจะมุ่งตรวจสอบทางอ้อมไปยังองค์ประกอบอื่นๆ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการพบว่าเชื้อสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปบี สามารถเจริญพันธุ์ได้ในหนู วัว และปลาบางชนิด ขณะเดียวกันก็สามารถปนเปื้อนผ่านขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การตัด หั่น ซอย การหมักและปรุงได้เช่นกัน ดังนั้นต้องตรวจสอบว่ามีช่องทางใดบ้างที่อาจเป็นสาเหตุให้อาหารเกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคจนทำให้ผู้รับประทานเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต พร้อมกันนี้ยังเตรียมที่จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักระบาดวิทยา มาร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางสืบหาสาเหตุการเสียชีวิต รวมทั้งการวางแผนนำตัวอย่างที่จัดเก็บไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อไป
“ผู้บริโภคสามารถรับประทานหมูกระทะได้ตามปกติ ไม่ต้องกลัวว่าจะติดเชื้อหรือเสียชีวิต เพราะแม้มีการปนเปื้อน แต่ตามธรรมชาติผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงจะไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียงผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดที่ควรหลีกเลี่ยง”ทพ.ดร.สุรสิงห์กล่าว และว่า เพื่อความปลอดภัยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมารับประทานเนื้อสัตว์ที่ทำให้สุกแล้วเท่านั้น หรือใช้ตะเกียบหรืออุปกรณ์คีบเนื้อสัตว์เพื่อปิ้ง ย่าง หรือลวกคนละชุดกับที่ใช้รับประทาน หากปฏิบัติตามคำแนะนำได้ก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะติดเชื้อหรือเจ็บป่วย
ทพ.ดร.สุรสิงห์กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยรายอื่นในเชียงใหม่ที่ล้มป่วยด้วยอาการลักษณะเดียวกัน และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น ขณะนี้ได้รับข้อมูลของทุกรายมาเพื่อศึกษาและตรวจหาสาเหตุแล้ว โดยรายหนึ่งพบว่าน่าจะเกิดจากการรับประทานลาบดิบขณะที่ป่วยเป็นเบาหวานและร่างกายไม่แข็งแรง ส่วนอีกรายพบว่ามีจุดที่น่าสนใจ คือ มีประวัติการเดินทางระหว่าง จ.เชียงใหม่ กับ จ.กาญจนบุรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการได้รับเชื้อและล้มป่วยได้