พะเยา - นโยบายจำนำข้าวทำชาวนาพะเยาแห่ปลูกข้าวนาปรังเพิ่มเกินกว่า 100% จากเดิมเคยปลูกเพียง 2 หมื่นกว่าไร่ ปีนี้ปลูกกันมากถึงกว่า 4.4 หมื่นไร่แล้ว ทั้งที่ปริมาณน้ำสำรองทั่วทั้งจังหวัดรับได้เพียง 3 หมื่นไร่เท่านั้น หวั่นแล้งนี้มีปัญหาหนัก ผู้ว่าฯ เรียกทุกหน่วยถกเล็งเดินหน้าขุดคูคลองเก็บน้ำเพิ่ม
นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้เรียกหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมด้วยประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำในจังหวัด ประชุมเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติทางการเกษตรภัยแล้ง ที่ห้องประชุมจอมทอง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพะเยา หลังพบว่า ปีนี้ประชาชนจะมีการทำนาปรังเพิ่มมากขึ้น
โดยจังหวัดคาดการณ์ว่า จะมีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเกินกว่า 100% คือเมื่อปี 2554 ปลูก 22,450 ไร่ ขณะที่ปีนี้ปลูกมากถึง 44,157 ไร่ ขณะที่จังหวัดพะเยามีปริมาณน้ำที่สามารถใช้เพาะปลูกได้เพียงราว 30,000 ไร่เท่านั้น ทำให้ต้องมีการวางแผนการบริหารการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ในภาคการเกษตร
ขณะที่ชลประทานพะเยา ระบุว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในแหล่งเก็บน้ำทั่วจังหวัดพะเยาในขณะนี้มีเพียง 87.54% โดยแหล่งเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด อย่างกว๊านพะเยา มีปริมาณน้ำ ราว 47.72 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำแม่ปืม มีปริมาณน้ำราว 28.53 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมของจังหวัดพะเยาสามารถกักเก็บน้ำได้ 2,000 ล้าน ลบ.ม. แต่สามารถกักเก็บได้เพียง 200 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
ส่วนที่เหลือต้องปล่อยทิ้งลงแม่น้ำโขงทั้งหมด เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำเพียงพอ หากจังหวัดสามารถหาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่ม และสามารถกักเก็บได้ประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม.ก็จะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน
นายชูชาติ กล่าวว่า จะต้องมีการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ ขุดลอกลำน้ำต่างๆ ในจังหวัด โดยไม่ต้องการให้ทิ้งน้ำกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม.ไปโดยเปล่าประโยชน์ ต้องมีการพัฒนาระบบชลประทาน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยกันฟื้นฟูแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อรองรับการทำการเกษตรเพิ่มขึ้นของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่ปัจจุบันมีราคาสูงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นแรงจูงใจให้มีการปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลทำให้การจัดการปัญหาต่างๆ ยุ่งยากมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม จังหวัดจะออกประกาศประชาสัมพันธ์เตือนพี่น้องเกษตรกร ผ่านสื่อสารมวลชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ประชาชนทราบเรื่องการลดปริมาณการเพาะปลูกข้าวนาปรัง หรือพิจารณาพื้นที่เพาะปลูกให้สอดคล้องปริมาณน้ำที่มีอยู่ ป้องกันปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการเกษตรในฤดูแล้งนี้
ส่วนงบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำ รัฐบาลได้สนับสนุนมาแล้ว แต่ยังติดปัญหากลุ่มคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย จึงอยากฝากให้ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำในจังหวัดพะเยาทั้ง 14 ฝ่าย พูดคุยชี้แจงถึงความจำเป็น เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้น้ำด้วย