ศูนย์ข่าวศรีราชา - ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สั่งอายัดส้มนำเข้าจากประเทศจีนหลังมีกิ่ง-ใบ หวั่นอาจมีศัตรูพืชติดมาเป็นพาหะนำพาศัตรูพืชก่อให้เกิดการแพร่ระบาด
วันนี้ (3 ธ.ค.) ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายยุทธนา หยิมการุณ รองอธิบีกรมศุลกากร ได้รับมอบอำนาจจาก นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวการอายัดสินค้าตามใบขนสินค้าเข้าเลขที่ A030-0551104617 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พีเอสพี แสงจันทร์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำนวน 2 ตู้ มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท และบริษัทไนน์ เอ็นเตอรต์ไพรส์ แอนด์ เทรดดิ้ง จำนวน 3 ตู้ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 5 ตู้ มูลค่าทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านบาท
สำหรับสินค้าสำแดงชนิดสินค้าเป็นส้มแมนดารินจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทางสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ตรวจสอบสินค้าเบื้องต้นโดยเครื่อง X-ray แล้ว พบว่ามีความแตกต่างกันระหว่างสินค้า ซึ่งมีการวางเรียงบริเวณส่วนหน้าของตู้คอนเทนเนอร์กับสินค้าที่อยู่ด้านใน จึงได้อายัดตู้สินค้าดังกล่าวไว้เพื่อตรวจสอบ
นายยุทธนากล่าวต่อไปว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดดูสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์พบว่า สินค้าในหีบห่อที่อยู่บริเวณด้านหน้าเป็นส้มแดนดารินตรงตามสำแดง ไม่พบกิ่ง และใบ สามารถนำเข้าในราชอาณาจักรได้ตามพิธีสารดังกล่าว ส่วนด้านในของตู้คอนเทนเนอร์พบเป็นส้มชนิดเดียวกันซึ่งมีกิ่ง และใบติดอยู่ด้วย ซึ่งอาจมีศัตรูพืชติดมาอันเป็นพาหะนำพาศัตรูพืชจนก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชที่สำคัญร้ายแรง ตลอดจนสร้างความเสียหายแก่พืชเศรษฐกิจ และระบบการผลิตพืชภายในประเทศได้
กรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานนำของต้นกำเนิดเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ประกอบมาตรา 16 และ 17 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 จึงได้ทำการยึด-อายัดเพื่อตรวจสอบ และส่งให้ด่านตรวจพืช กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 ต่อไป
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ภู่ทอง ผู้นำเข้าส้มกล่าวว่า ในความเป็นจริงหากทางประเทศจีนมีมาตรการที่เข้มงวด ปัญหาดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ประกอบการทราบดี หากนำเข้ารูปแบบนี้จะผิดกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถบอก หรือแจ้งได้จึงกระทำเช่นนี้
นอกจากนั้น หากมีใบ และกิ่งติดมาด้วยก็เป็นการลดค่าใช้จ่าย เพราะ 1 ตู้คอนเทนเนอร์สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 80,000 บาท จึงมีการกระทำดังกล่าว
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา ชมพู่ ลำไย เคยถูกประเทศจีนตีกลับเพราะหวั่นมีปัญหาด้านศัตรูพืชเช่นกัน ดังนั้นทั้ง 2 ประเทศควรเจรจา หรือทำความเข้าใจให้ปัญหาที่เกิดขึ้นและร่วมกันแก้ไข โดยไม่ให้ผลกระทบเกิดแก่ผู้ประกอบการซึ่งสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก