xs
xsm
sm
md
lg

ร้อยเอ็ดเจรจาขายข้าวปี 55 ได้กว่า 4,200 ล้านบาท เฉพาะจีนสั่งซื้อ 3,000 ตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้อยเอ็ด-จังหวัดร้อยเอ็ด ประสบผลสำเร็จด้านการเจรจาคู่ค้าข้าวหอมมะลิ งานเทศกาลวันข้าวหอมมะลิโลกร้อยเอ็ด ปี 55 ลงนามซื้อ-ขายมีมูลค่ารวมกว่า 4.2 พันล้านบาท และสุดปลื้มที่ปีนี้ 1 ในจำนวนคู่ค้ามาจากประเทศจีน สั่งซื้อข้าวหอมร้อยเอ็ดมากถึง 3,000 ตัน เป็นเงินกว่า 102 ล้านบาท

หลังจากจังหวัดร้อยเอ็ด จัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ “อนาคตข้าวไทยในตลาดภายในและต่างประเทศ” พร้อมกับมีการเปิดให้มีการเจรจาซื้อขายข้าวหอมมะลิ ระหว่างคู่ค้าข้าวหอมมะลิ จำนวน 33 คู่ มูลค่าการซื้อขายรวม 4,265,200,500 (สี่พันสองร้อยหกสิบห้าล้านสองแสนห้าร้อยบาท)

นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวสรุปผลการเจรจาคู่ค้าข้าวหอมมะลิ ณ ห้องประชุมพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด ในงานเทศกาลวันข้าวหอมมะลิโลกร้อยเอ็ด ปี 55 ว่า เฉพาะวันแรกวันเสาร์ที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผลการเจรจาปรากฏว่า มีคู่ค้าข้าวหอมมะลิจำนวน 33 คู่ ปริมาณการซื้อขาย 168,100 ตัน ซื้อขายมูลค่า 4,265,200,500บาท โดยแยกเป็นข้าวเปลือก จำนวน 64,700 ตัน มูลค่า 1,104,900,000 บาทถ้วน และข้าวสาร จำนวน 93,400 ตัน มูลค่า 3,160,300,500 บาทถ้วน นับว่าประสบความสำเร็จสูงสุดอีกครั้งหนึ่งในการซื้อขายข้าวหอมมะลิร้อยเอ็ด ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมากว่าหนึ่งพันล้านบาท

การเจรจาในครั้งนี้ ในส่วนของภาคโรงสี ประกอบด้วย บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด ห้างหุ้นส่วนจำกัดฮะเฮงค้าข้าว ห้างหุ้นส่วนจำกัดวังเงินการเกษตร ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีบัวการค้า ศูนย์จำหน่ายข้าวหอมมะลิขอนแก่น บริษัทไทยธุรกิจการเกษตร เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีอีสาน บริษัทโรงสีข้าว ส.วงษ์พาณิชย์ จำกัด และนายหยางจู ผู้ซื้อข้าวจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ได้มีการรับซื้อข้าวจากสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดร้อยเอ็ด

รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวอีกว่า ในงานวันข้าวหอมมะลิ ปีที่ผ่านมาได้มียอดการเจรจาธุรกิจค้าข้าวประมาณ 2,000 ล้านบาทเศษ ปีนี้ตั้งเป้ายอดการเจรจาธุรกิจประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า สามารถจำหน่ายเกินเป้าได้ถึงกว่า 4 พันล้านบาท การซื้อขายในครั้งนี้ ได้แสดงถึงคุณภาพของข้าวหอมมะลิร้อยเอ็ดว่า มีคุณภาพตามวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดที่เป็นผู้นำการผลิตข้าวหอมมะลิสู่ตลาดโลก

ดังนั้น ในปีหน้าจะต้องมีการมุ่งเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพ และมาตรฐานการผลิตข้าวหอมมะลิ เพื่อเพิ่มผลผลิต และคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะส่งผลต่อเกษตรกรให้จำหน่ายข้าวหอมมะลิ มีมูลค่ามากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นในปีต่อไปด้วยการเน้นการเพิ่มแหล่งน้ำรองรับการผลิต จะพัฒนาระบบการผลิตพร้อมกันทั้งระบบ รวมทั้งเน้นการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ให้ได้ข้าวที่ดีตรงกับตลาดมากขี้น ที่ใช้ต้นทุนต่ำ แต่มีรายได้สูงเข้ามาพัฒนาการผลิตให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป

ซึ่งในปีนี้ ผู้ซื้อข้าวนอกจากจะเป็นคู่ค้าในประเทศแล้ว ยังมีนายหยางจู ผู้ซื้อจากประเทศจีนมาเป็นคู่ค้าด้วย โดยบอกว่าเนื่องจากชอบข้าวหอมมะลิจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพิเศษ เพราะมีความหอม และนุ่ม ที่รักษาคุณภาพไว้อย่างต่อเนื่อง จึงได้มาทำสัญญาซื้อข้าวถึง 3,000 ตัน เป็นวงเงินถึง 102 ล้านบาทด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น