กาฬสินธุ์ - โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์เปิดหีบฤดูกาล 2555/56 ตั้งเป้าอ้อยเข้าโรงงาน 3.4 ล้านตัน คาดเงินสะพัดให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 4 พันล้านบาท พร้อมเร่งเจาะบ่อบาดาล ขุดสระ ช่วยเกษตรกรที่ปลูกอ้อยประสบภัยแล้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นายวิโรจน์ ภู่สว่าง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานอ้อย นายจารึก กรีทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานโรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้อำนวยการด้านอ้อย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนและเกษตรกรชาวไร่อ้อยร่วนกันจัดกิจกรรมประเพณีโยนหีบอ้อยและเปิดหีบอ้อยฤดูกาล 2555/2556 เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในการหีบอ้อยประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
พร้อมทำความเข้าใจและรณรงค์ให้เกษตรกรตัดอ้อยให้ได้คุณภาพ ยอดสั้น ไม่มีกากใบ ไม่มีดินทรายปนเปื้อน และงดการเผาอ้อยเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งจะทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลง ทั้งการเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม
นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้อำนวยการด้านอ้อย โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กิจกรรมการโยนอ้อยถือเป็นประเพณีที่กลุ่มน้ำตาลมิตรผลถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการเปิดหีบ โดยในฤดูกาลผลิตปี 2555-2556 มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของโรงงาน 310,000 ไร่ จากเดิม 270,000 ไร่ คลอบคลุมในจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และจังหวัดขอนแก่นบางส่วน ซึ่งตั้งเป้าอ้อยเข้าโรงงาน 3.4 ล้านตัน
ส่วนราคารับซื้ออ้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับค่าความหวาน เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 1,200 บาท คาดว่าจะมีเงินสะพัดในการรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรอย่างน้อย 4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 ที่ผ่านมาทางโรงงานได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในการทำอ้อยให้มีคุณภาพส่งเข้าหีบ จนโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์มีค่าความหวนอ้อยเข้าหีบที่ 13.37 ซีซีเอส เป็นที่ 2 ของประเทศอีกด้วย
ด้านนายอิศรา ไชยนันทน์ เจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ รับผิดชอบงานต่อสังคม กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศปี 2556 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยจะพบกับสภาวะฝนแล้ง ฤดูฝนจะมาช้ากว่าปกติ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตอ้อย ทั้งอ้อยปลูกใหม่และอ้อยตอหลังจากตัดเข้าหีบ ซึ่งทางผู้บริหารกลุ่มน้ำตาลมิตรผลได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรอย่างใกล้ชิดและให้ทั่วถึง เพื่อเตรียมการล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ดังกล่าว
โดยการให้ความรู้เกษตรกรในการบำรุงอ้อยตอทันทีหลังจากตัดเสร็จ อาศัยความชื้นที่ยังมีอยู่ในดิน รวมทั้งการให้น้ำและฝังปุ๋ย ซึ่งทางโรงงานได้มีการจัดเตรียมผู้รับเหมาในการลงริปเปอร์ฝังปุ๋ยให้แก่พี่น้องชาวไร่อ้อยแล้ว ซึ่งหากเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความประสงค์ต้องการสร้างแหล่งน้ำ
เช่น การเจาะบ่อบาดาล ขุดสระ หรือมีแหล่งน้ำอยู่แล้วแต่ยังขาดเครื่องมือ อุปกรณ์ในการสูบน้ำมาใส่อ้อย ก็สามารถติดต่อขอรับการส่งเสริมได้ที่เขตส่งเสริมทุกเขตของโรงงาน