ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งเพิ่มอีก 4 อำเภอ รวมเป็น 8 อำเภอ 52 ตำบล 600 หมู่บ้าน เดือดร้อนกว่า 4 หมื่นคน พื้นที่เกษตรเสียหายแล้วกว่า 4 แสนไร่ ขณะชาว อ.ประทายเดือดร้อนหนักขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ต้องนำรถเข็นมาเข้าคิวรอรับน้ำแจกจากหน่วยงานรัฐทุกวันเพื่อประทังชีวิต
วันนี้ (15 พ.ย.) นางปิยะฉัตร อินสว่าง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดนครราชสีมายังคงทวีความรุนแรงในหลายพื้นที่ ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งไปแล้วก่อนหน้านี้รวม 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บัวใหญ่ อ.ประทาย อ.บ้านเหลื่อม และ อ.ทะเมนชัย เพื่อขออนุมัติใช้เงินงบประมาณในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด 50 ล้านบาทเข้าให้การช่วยเหลือ
ล่าสุดวันนี้ นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงนามประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งเพิ่มเติมอีก 4 อำเภอ คือ อ.โนนแดง อ.โนนสูง อ.บัวลาย และ อ.สีดา รวมมีพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้ง 8 อำเภอ 52 ตำบล 600 หมู่บ้าน มีราษฎรประสบภัย 40,918 คน 34,993 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเบื้องต้น 448,244 ไร่ และคาดว่าปัญหาภัยแล้งยังคงขยายวงกว้างไปอีก ซึ่งจะได้เร่งสำรวจความเสียหายและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
นางปิยะฉัตรกล่าวอีกว่า การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ทุกหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมาได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งสำนักงานชลประทานจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 5 นครราชสีมา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการจัดทำแผนเฉพาะกิจและบรรเทาปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดนครราชสีมา และแจ้งให้ทุกอำเภอ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมเตรียมรถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำไว้ให้พร้อม หากพื้นที่ใดประสบภัยให้รีบออกไปให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน หรือขอรับการสนับสนุนได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา สายด่วน 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ชาวบ้านถนนโพธิ์ หมู่ 5 ต.ประทาย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงได้นำรถเข็นน้ำมาเข้าคิวเพื่อรอรับน้ำอุปโภคบริโภคจากแท่งน้ำสาธารณะกลางหมู่บ้าน ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลประทาย และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้นำรถบรรทุกน้ำมาเติมน้ำให้ทุกวัน วันละ 5-7 เที่ยว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในเบื้องต้น ซึ่งมีประชาชนบางส่วนที่รับจ้างเข็นน้ำไปเติมใส่ตุ่มให้เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงที่ไม่สามารถมาเข็นน้ำเองได้ เพราะมีเพียงคนชรา ผู้ป่วย หรือเด็กเล็กอาศัยอยู่ในบ้าน