จันทบุรี - จังหวัดจันทบุรี หวั่นพื้นที่ 5 อำเภอ หลังปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บลดน้อยลง พร้อมตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
จากปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีมีน้อย และฝนเกิดทิ้งช่วงในระยะนี้ และในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวทำให้อากาศแห้งแล้ง ทางจังหวัดมีความเป็นห่วงในเรื่องของสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะ 2 อำเภอ คือ อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว ที่ทางจังหวัดมีความเป็นห่วงเป็นอย่างมากเพราะปริมาณฝนตกที่ตกลงมามีน้อย และพื้นที่ทั้ง 2 อำเภอ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนลำไย เกษตรกรชาวสวน และชาวบ้านจึงมีความจำเป็นต้องการใช้น้ำในการดูแลสวนผลไม้ และอุปโภคบริโภคเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ในพื้นที่เสี่ยงอีก 3 อำเภอ คือ อำเภอขลุง อำเภอมะขาม และอำเภอแก่งหางแมว ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี จะพบว่าเกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเป็นประจำเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีไม่มีอ่างเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ไว้คอยเก็บกักน้ำ รวมทั้งการสร้างประตูระบายน้ำ และคลองบายพาสก็ยังไม่แล้วเสร็จจึงทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ยังน่าเป็นห่วง ประกอบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บกักน้ำ เขื่อนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีจะมีปริมาณน้ำเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม เพราะภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะอยู่นอกเขตชลประทานเป็นส่วนใหญ่
ด้านนายวิสุทธิ์ ประกอบความดี ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ในเรื่องนี้นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี มีความเป็นห่วงในเรื่องของสถานการณ์ภัยแล้งเป็นอย่างมาก และเตรียมที่จะมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพื่อประชาชนขึ้น โดยให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน และเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งทางจังหวัดเตรียมมีการจัดประชุมใหญ่เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับผิดชอบโดยตรงมาประชุมร่วมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้
ส่วนในด้านอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รถน้ำ และเจ้าหน้าที่ ทางจังหวัดได้ให้ทุกอำเภอได้มีการจัดเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว หากมีชาวบ้านร้องขอก็สามารถที่จะดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที นอกจากนี้ พื้นที่ใด อำเภอใด มีอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำไม่เพียงพอ ทางจังหวัดก็จะให้ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี และศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 17 เข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือต่อไป หากเกินความสามารถของทางจังหวัด ทางจังหวัดก็มีแผน 2 ในการขอเครื่องบินฝนหลวงมาทำการบินโปรยสารฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหาภัยแล้งต่อไปอีกด้วย