xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าพระยาจ่อวิกฤตแห้งขอด เขื่อนป้องกันดินพังไม่หยุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระนครศรีอยุธยา - แม่น้ำเจ้าพระยาจ่อวิกฤต พบมีสภาพแห้งขอดลดลงต่อเนื่อง จนทำให้เขื่อนป้องกันดินริมแม่น้ำพังลงแม่น้ำเจ้าพระยายาวกว่า 200 เมตร บ้านเรือนประชาชนอย่างน้อย 4 หลังคาเรือนจ่อที่จะพังลงไปด้วย

วันนี้ (8 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้ออกสำรวจพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขต ม.1 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำลดลงไปอย่างมาก โดยระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง 3 เมตรเศษ ซึ่งสามารถมองเห็นสันดอนทราย และตอสะพานเก่าผุดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เรือขนส่งสินค้าต้องวิ่งในร่องกลางแม่น้ำเท่านั้น ยากลำบากต่อการเดินทาง เนื่องจากระดับน้ำลดลงทั้งสองฝั่ง

นอกจากนี้ การลดระดับลงของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังส่งผลทำให้เขื่อนคอนกรีตของกรมชลประทานที่สร้างไว้ตามริมตลิ่งเพื่อป้องกันดินพังทลาย ได้เกิดทรุดตัวพังลงไปหลายจุด เฉลี่ยแต่ละแห่งมีความยาวประมาณ 60-100 เมตร โดยกินพื้นที่จากริมตลิ่งเข้าไปอีก 12-13 เมตร

นายมาโนช ตุ้มทอง หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมชลประทาน จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ดินริมแม่น้ำพังทลายลง เนื่องจากไม่ได้อุ้มน้ำ อีกทั้งยังเกิดจากเรือที่วิ่งอยู่ร่องกลางทำให้ดินสไลด์ลงไปอีก ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นหลายจุดในพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา ติดต่อ อ.บางบาล อ.ป่าโมก ซึ่งเตรียมที่จะประสานกับทางเจ้าท่า และทางโยธาธิการจังหวัด เพื่อหาทางป้องกันจุดที่อาจจะเกิดความเสียหายอีก

ด้านนายประพนธ์ เอี่ยมสุนทร โยธาและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ม.3 ต.ไทรน้อย อ.บางบาล ทรุดตัวลงไปในแม่น้ำเป็นระยะทางยาวเกือบ 200 เมตร และมีบ้านเรือนประชาชนอย่างน้อย 4 หลังคาเรือนที่กำลังจะพังลงไปว่า ขณะนี้ ทางโยธาและผังเมืองพร้อมป้องกันและบรรเทาภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และจะได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือเบื้องต้น

และจากการตรวจสอบทราบว่า ขณะนี้บริเวณดังกล่าวได้รับงบประมาณในการสร้างเขื่อนถาวรในระยะทาง 100 เมตร ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้าง ในช่วงเดือน ม.ค.ปี 2556 นอกจากนี้ ในเขต อ.บางบาล ยังมีอีกหลายจุดที่เกิดปัญหาเดียวกัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดสรรงบประมาณลงไปช่วยเหลือในการทำเขื่อนถาวรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น