xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพลูตาหลวงรวมพลังห่อข้าวต้มหาง-มัด 1 แสนกีบ ตักบาตรเทโวออกพรรษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวพลูตาหลวง รวมพลังห่อข้าวต้มหาง-มัด  1 แสนกีบ  ตักบาตรเทโว ออกพรรษา
ศูนย์ข่าวศรีราชา- ชาวพลูตาหลวง รวมพลังห่อข้าวต้มหาง-มัด 1 แสนกีบ เพื่อนำไปทำบุญตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา

วันนี้ (30 ต.ค.) ที่วัดเขาบายศรี ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เหล่าอุบาสกอุบาสิกา และประชาชนในพื้นที่ ได้รวมพลังกันนำข้าวเหนียว กล้วยน้ำว้า ถั่วดำ น้ำตาล ใบตอง ใบพระพ้อ และใบมะพร้าว มาบริจาคให้แก่พระอาจารย์อนันต์ ประภังกะโร เจ้าอาวาสวัดเขาบายศรี พร้อมร่วมกันห่อข้าวต้มมัด และข้าวต้มหาง จำนวน 50,000 มัด หรือ 1 แสนกีบ เพื่อเตรียมให้เหล่าพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันซื้อทำบุญ “ตักบาตรเทโว” เนื่องในวันออกพรรษา โดยจะมีพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 7 รูป และสามเณร จำนวน 21 รูป เดินลงมาจากยอดเขาเพื่อรับบิณฑบาตในตอนรุ่งเช้า

นายสุเมธี ศิริพันธ์ กำนันตำบลพลูตาหลวง กล่าวว่า ทุกๆ ปี เมื่อถึงวันออกพรรษา เหล่าบรรดาพุทธศาสนิกชน และประชาชนในตำบลพลูตาหลวงจะพร้อมใจร่วมกันนำข้าวเหนียว กล้วยน้ำว้า ถั่วดำ น้ำตาล ใบตอง และใบมะพร้าว มาบริจาคให้แก่ทางวัด และร่วมกันห่อข้าวต้มมัด และข้าวต้มหาง เป็นระยะเวลา 2 วัน 2 คืน ซึ่งเป็นประเพณีของชาวตำบลพลูตาหลวงที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน นอกจากเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลโดยการหารายได้เข้าวัด ยังก่อให้เกิดความรัก ความสมัครสมาน สามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย

พระอาจารย์อนันต์ ประภังกะโร เจ้าอาวาสวัดเขาบายศรี กล่าวว่า การห่อข้าวต้มมัด ข้าวต้มหางในวันออกพรรษา เป็นประเพณีที่ทางวัดจัดสืบทอดกันมาช้านาน เพื่อให้ประชาชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดความรัก ความสมัครสมานสามัคคี เฉกเช่นข้าวต้มมัด และข้าวต้มหางที่อยู่คู่กัน เสมือนรักใคร่กลมเกลียว อีกทั้งเพื่อนำรายได้จาการขายข้าวต้ม และจตุปัจจัยที่ประชาชนร่วมบริจาคมาทำนุบำรุงศาสนสถานให้ประชาชนได้มีที่กราบไว้สักการะ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา

ปัจจุบัน การห่อข้าวหางได้เหือดหาย และเริ่มหมดไป เนื่องจากไม่มีผู้สืบทอด การห่อทำได้ยาก และวัสดุที่นำมาห่อคือ ใบกระพ้อ ซึ่งปัจจุบันหาได้ยากมาก และได้มีการห้ามนำมาใช้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการทำข้าวต้มมัด ทางวัดเขาบายศรี ได้เปลี่ยนจากการห่อข้าวต้มลูกโยน มาเป็นข้าวเหนียวเปล่าๆ ทำข้าวต้มมัดใส่กล้วยน้ำว้าเป็นไส้ในแทน ซึ่งจะเพิ่มปริมาณและความอร่อยให้แก่ผู้ที่ซื้อทำบุญถวายพระ และซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านอีกด้วย

สำหรับการนำข้าวต้มมัด และข้าวต้มหางมาทำการใส่บาตรพระสงฆ์ในวันออกพรรษา มีความเชื่อว่า “ประเพณีตักบาตรเทโว” ซึ่งย่อมาจาก “เทโวโรหณะ” อันหมายถึงการเสด็จลงมาจากเทวโลกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วได้เสด็จไปประกาศ พระศาสนาในแคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีป ตลอดจนไปทรงเทศนาโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติทั้งหลาย ให้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยของแต่ละคน แล้วพระองค์ได้ทรงรำลึกถึง พระนางสิริมหามายา ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้ 7 วัน ทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา

ดังนั้น จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎก โปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา ครั้นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือหลังวันออกพรรษา 1 วัน พระองค์เจ้าจึงได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาประทับที่เมืองสังกัสสะ ประชาชนต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรกันอย่างเนื่องแน่น

ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกมาสู่เมืองมนุษย์ จึงนิยมตักบาตรกันเป็นพิเศษ และทำสืบต่อมาเป็นประเพณีจนทุกวันนี้ และเรียกว่า “ตักบาตรเทโว” ซึ่งของทำบุญที่นิยมกันเป็นพิเศษคือ ข้าวต้มลูกโยน ซึ่งเอาข้าวเหนียวห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาว กล่าวกันว่าที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยน คงเป็นเพราะเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากเทวโลก พระบรมศาสดาถูกห้อมล้อมด้วยมนุษย์ และเทวดาจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงจึงคิดใส่บาตรโดยโยนเข้าไป และที่ไว้หางยาวก็เพื่อให้โยนได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งการโยนลักษณะนี้คงเกิดขึ้นภายหลัง มิใช่สมัยพระพุทธองค์จริงๆ และทำให้เป็นนัยมากกว่า เพราะปัจจุบันจะใช้การแห่พระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า
ข้าวต้มมัด-ข้าวต้มหาง ที่ห่อเสร็จแล้ว เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชน นำรายได้เข้าวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น