xs
xsm
sm
md
lg

ใช้ “เชียงราย” นำร่องต้านมะเร็งเต้านม ตามแนวพระราชดำริสมเด็จย่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - สถิติผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มไม่หยุด หลายหน่วยงานร่วมมือใช้เชียงรายเป็นพื้นที่นำร่องสกัดการลุกลามตามพระราชดำริสมเด็จย่า สอนชาวบ้านตรวจด้วยตัวเองเพื่อเฝ้าระวัง-ลดความเสี่ยง

นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ ประธานคณะทำงานโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม, นายแพทย์ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์, นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย, นายแพทย์สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และนายแพทย์อิทธิ ยอดประสิทธิ์ หัวหน้ากลุ่มศัลยกรรมฯ ได้แถลงผลการเปิดโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าในการต้านภัยมะเร็งเต้านม จ.เชียงราย ณ ห้องประชุมเสม พริ้งพวงแก้ว โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

โดยให้ข้อมูลว่า ปัจุบันหญิงไทยประสบปัญหาการเกิดโรคมะเร็งเต้านมจนกลายเป็นภัยอันดับหนึ่งของสตรีไทย ดังนั้นได้จัดให้ จ.เชียงรายเป็นจังหวัดนำร่องของภาคเหนือในการศึกษารูปแบบการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง พื่อให้สตรีได้รู้เฝ้าระวังตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นการลดความเสี่ยงต่อไป

นายแพทย์วัลลภกล่าวว่า เชียงรายได้รับคัดเลือกเป็นจังหวัดนำร่องของภาคเหนือในการต้านภัยมะเร็งเต้านมตามพระราชดำริสมเด็จย่า ที่ต้องการให้สตรีไทยได้พ้นจากมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่าหญิงไทยเป็นมะเร็งที่เต้านมในระยะท้ายๆ แล้ว ไม่สามารถให้การรักษาทางยาได้ต้องให้หมอผ่าตัดเต้านมออก ต้นเหตุสำคัญเกิดจากการละเลยไม่ตรวจเต้านมด้วยตนเอง ซึ่งหากพบตั้งแต่แรกๆ ยังคงสามารถรักษาได้ ส่วนสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่ทราบแน่นอน การป้องกันที่ดีที่สุดคือการค้นพบให้เร็วที่สุด

การตรวจสอบมีอยู่วิธีการ 3 วิธี คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน ตรวจโดยพบแพทย์ ตรวจด้วยการเอ็กซเรย์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม โครงการจะได้มีการกระจายความรู้สู่ท้องถิ่นผ่านกลุ่มอาสาสมัคร สาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีความรู้ โดยจะมุ่งเน้นไปสู่ผู้หญิงที่วัยอายุ 30 ปีขึ้นไป จึงเชิญชวนให้ประชาชนให้ความสนใจเพื่อสุขภาพของตัวเองด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มีปีละกว่า 1,600 ราย และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น