xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอีสานชี้กำนัน-ผญบ.ควรนั่งในตำแหน่งวาระแค่ 4-5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - อีสานโพลเผยผลสำรวจเรื่อง “ทัศนคติของชาวอีสานต่อบทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังต้องการให้คงตำแหน่งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไว้ และให้ประชาชนเลือกตั้งนั่งวาระละ 4-5 ปี ขณะที่ส่วนน้อยมองว่าควรยุบทั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเพราะมีเทศบาลและ อบต.ทำหน้าที่ปกครองอยู่แล้ว

ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้สำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อบทบาทของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน โดยทำการสุ่มสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 723 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยถึงผลการสำรวจว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 85.3 เห็นว่า ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านควรให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 4-5 ปี รองลงมาอีกร้อยละ 13.0 เห็นว่าให้ดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปี ส่วนอีกร้อยละ 1.7 ไม่มีความเห็น

สำหรับตำแหน่งกำนันตำบล ความเห็นของกลุ่มตัวอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน คือส่วนใหญ่ร้อยละ 85.8 เห็นว่าควรดำรงตำแหน่งคราวละ 4-5 ปี รองลงมาร้อยละ 13 ให้ดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปี ส่วนอีกร้อยละ 1.2 มีความเห็นอื่นๆ เช่น ดำรงตำแหน่ง 2-7 ปี บางความเห็นระบุว่าไม่ควรมีตำแหน่งกำนันตำบลแล้ว

สำหรับการได้มาซึ่งตำแหน่งกำนันตำบลนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 90.3 เห็นว่าควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน อีกร้อยละ 9.7 เห็นว่าให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนในการเลือกกำนันตำบล และเมื่อถามต่อว่าตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านยังควรให้คงมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 88.5 เห็นว่ายังควรให้มีอยู่โดยเฉพาะในชนบท อีกร้อยละ 11.5 เห็นว่าควรยกเลิกตำแหน่งนี้ เนื่องจากมีองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลทำหน้าที่อยู่แล้ว

ดร.สุทินกล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจข้างต้นทำให้เห็นว่าตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นตำแหน่งทางราชการที่ถูกกำหนดหน้าที่โดยเฉพาะในชนบทมาเป็นระยะเวลายาวนาน ประชาชนมีความผูกพันและคุ้นเคยใกล้ชิด แม้ว่าปัจจุบันจะมีการกระจายอำนาจลงมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งรูปแบบ อบต. และเทศบาล ซึ่งส่งผลให้บทบาทและความสำคัญของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านลดลงก็ตาม

แต่อย่างไรก็ดี ประชาชนยังคงให้ความสำคัญและต้องการให้คงตำแหน่งนี้เอาไว้ นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าตำแหน่งดังกล่าวควรได้มาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งคราวละ 4-5 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น