xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรรายย่อยอีสานรื้อองค์กรใหม่ตั้ง “สกย.ท.” ลุยแก้ 5 กลุ่มปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวีระพล โสภา เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยแห่งประเทศไทย(สกย.ท.) คนแรก
มหาสารคาม - อดีตแกนนำสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสานจัดเสวนาทบทวนการขับเคลื่อนแก้ปัญหาเกษตรกร หลังต่อสู้มานานแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐ ซ้ำเกษตรกรกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม ประกาศผนึกพลังกันใหม่ในนาม สมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยแห่งประเทศไทย หรือ “สกย.ท.” หวังสร้างพลังต่อรองรัฐบาลให้เกษตรกรรายย่อยช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืน

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ร้านอาหารสมประสงค์รีสอร์ท ต.นาโพธิ์ อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม อดีตแกนนำสมัชชาเกษตรกรรายย่อย (สกย.อ.) ภาคอีสาน เช่น นายบำรุง คะโยธา นายสมยงค์ แก้วสุพรรณ นายวีระพล โสภา นายประภาส โงกสูงเนิน ประธานสภาประชาชน 4 ภาค นายหิน พลนาคู หรือสหายนิยม จากกลุ่ม ผรท. ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ “20 ปี เหลียวหลังแลหน้า สมัชชาฯ กลุ่มเกษตรกรภาคอีสาน” โดยมีผู้ร่วมประชุมกว่า 100 คน มาจากหลายจังหวัดของภาคอีสาน

โดยแบ่งกลุ่มย่อยการเสวนาทั้งหมด 5 กลุ่มปัญหา คือ 1. กลุ่มปัญหาหนี้สิน ที่ดิน ป่าไม้ 2. ปัญหาฟื้นฟูพัฒนาองค์กรเกษตรกร 3. ปัญหาเขื่อนฝาย สิ่งแวดล้อม 4. ปัญหาพลังงานปิโตรเลียม และ 5. ปัญหาผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

ผลการเสวนา ที่ประชุมได้มีมติให้เกษตรกรรายย่อยภาคอีสานรวมตัวกันเป็นองค์กรในนาม “สมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยแห่งประเทศไทย (สกย.ท.)” โดยนายวีระพล โสภา ได้รับการเลือกตั้งเป็นเลขาธิการสมาพันธ์ฯ คนแรก พร้อมออกแถลงการณ์สรุปข้อหารือเพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือ ประกอบด้วยปัญหาหนี้สิน ที่ดิน ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ความยากจน

นายวีระพล โสภา เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยแห่งประเทศไทย (สกย.ท.) คนแรก กล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐ และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่วิกฤตมากขึ้น ที่ผ่านมาเกษตรกรรายย่อยได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของผู้นำเกษตรกรและนักการเมืองแต่ละกลุ่ม แต่ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยกลับไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นเกษตรกรรายย่อยจึงต้องมีการรวมตัวกันเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง เพื่อให้มีการผลักดันให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหาพื้นฐานเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยพึ่งพาตนเองได้ พร้อมกับร่วมมือกับภาคประชาชนอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาระดับชาติ เช่นด้านพลังงาน เป็นต้น

นายวีระพลระบุอีกว่า การรวมตัวกันเป็นองค์กรอีกครั้งหนึ่งครั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยภาคอีสานเคยมีประสบการณ์ทำงานเพราะเมื่อก่อนเราเคยแข็งแกร่งในนามสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน แต่เมื่อเราแยกกันทำงานอำนาจต่อรองก็หมดไปแต่ปัญหาเก่าของเกษตรกรรายย่อยภาคอีสานก็ยังคงอยู่ ปัญหาใหม่ก็เข้ามาอีก เช่นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เชื่อได้อย่างไรว่าเกษตรกรภาคอีสานจะไม่ได้รับผลกระทบหรือทำให้อยู่ดีกินดีขึ้น

“ทางออกของปัญหาคือเราต้องรวมตัวกันเป็นองค์กรเพื่อให้กลุ่มปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนของเกษตรกรได้รับการแก้ไข เป็นการก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อร่วมแก้ปัญหากับภาครัฐ”
กำลังโหลดความคิดเห็น