xs
xsm
sm
md
lg

ม.วลัยลักษณ์ระบุ พร้อมเป็นหลักตั้งหน่วยวิจัยพลังงานหมุนเวียน-“คำนูณ” เปิด 7 ข้อคนไทยยังไม่รู้ประจานทุนผูกขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - รองอธิการ มวล.นครศรี เผยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์พร้อมเป็นหลักในท้องถิ่น ตั้งหน่วยวิจัยพลังงานหมุนเวียนศึกษาหาทางออกพัฒนาพลังงานในท้องถิ่นใช้ได้จริง “คำนูณ สิทธิสมาน” เปิด 7 ข้อคนไทยยังไม่รู้เตรียมผลักดัน รธน.ฉบับใหม่แร่-ปิโตรเลียมเป็นของประชาชน

วานนี้ (1 เม.ย.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมกับหลายฝ่ายเร่งสร้างองค์ความรู้เป็นหลักในท้องถิ่น เปิดเวทีสัมมนา “ปัญหาพลังงาน ทำไมจึงกลายเป็นปัญหาของท้องถิ่น” พร้อมเปิดหน่วยวิจัยพลังงานหมุนเวียนรองรับเร่งศึกษาวิจัยพลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้นำมาใช้ได้จริง ส.ว.คำนูณ เปิด 7 ข้อคนไทยยังไม่รู้ประจานทุนผูกขาด
รศ.ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช
รศ.ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นโดยชุมชนโดยแท้ มีประวัติศาสตร์การก่อเกิดที่ยาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 2510 จนเริ่มผลิตบัณฑิต ทำงานวิจัย ทำงานร่วมกับชุมชนได้เมื่อปี 2535 ซึ่งชุมชนต้องไม่ลืมประวัติศาสตร์ ส่วนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เองนั้น ต้องก้าวเข้าสู่ความเป็นหลักในถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้ และมีความเป็นเลิศสู่สากล กิจกรรมที่สะท้อน 20 ปีของมหาวิทยาลัยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะต้องเป็นหลักในถิ่นให้ได้

“การขับเคลื่อนงานวิจัยคืออะไรบ้างที่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ อยากให้มีการมุ่งเน้นเรื่องที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้น การใช้นโยบายให้มีหน่วยวิจัยจึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเข้าใจปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากฐานข้อมูลที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ปกปิดบ้าง หน่วยวิจัยพลังงานหมุนเวียนจึงเกิดขึ้น โดยเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นแบบหมุนเวียน แบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติในฉบับที่ 7และ 8 คือประชาชนต้องมีส่วนร่วม และสะท้อนความต้องการของชุมชนในพื้นที่ พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทางเลือกของแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน นครศรีธรรมราช มีพลังงานหมุนเวียนที่ดี เช่นลม น้ำ คลื่น เป็นต้น โดยเฉพาะคลื่นนั้น ยังไม่มีการวิจัยอย่างชัดเจน ซึ่งเรากำลังดำเนินการในเรื่องนี้” รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กล่าว
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ได้บรรยายถึงพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะแร่ และปิโตรเลียม ซึ่งโดยกฎหมายที่บัญญัติไว้พบว่า แร่และปิโตรเลียมนั้นเป็นของรัฐตามมาตรา 23 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม การทำสัมปทานใดๆ ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐ หลักสำคัญคือ แร่และปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ไม่ใช่ของประชาชนไม่ว่าพบที่ใดก็ตาม แตกต่างกับของสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศที่เจ้าของเป็นปัจเจกสามารถเป็นเจ้าของปิโตรเลียมได้หากพบในที่ดินของตนเอง

“จริงๆ แล้ว รัฐคือตัวแทนของประชาชน ดังนั้น ผลประโยชน์ต้องอยู่ที่ประชาชน แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เช่นนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานกลับกลายเป็นเรื่องของปิโตรธิปไตย ดังเช่นที่ อ.ประสาท มีแต้ม ได้ให้คำจำกัดความไว้ คือการเมืองเป็นเรื่องของปิโตรเลียม เรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของกลุ่มทุนไทยที่ไปเชื่อมโยงกลุ่มทุนโลก รัฐไทยไม่ใช่แค่ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย หรือพรรคการเมืองไหนๆ ทิศทางเหมือนกันหมด หรือแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หรือรัฐธรรมนูญฉบับไหนๆ นโยบายพลังงานทิศทางเดียวเหมือนกันหมดไม่มีการเปลี่ยน มีทางเดียวที่ต้องช่วยกันคือก้าวข้ามให้พ้นไป” ส.ว.คำนูณ กล่าว

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภายังบรรยายต่อว่า มีข้อควรรู้ที่ยังคงรู้กันในวงแคบๆ ไม่กว้างขวาง ซึ่งต้องช่วยกันบอกกล่าวให้ประชาชนรับรู้ให้มากขึ้นให้กว้างขวางรวม 7 ข้อด้วยกัน คือ 1.คนไทยซื้อก๊าซธรรมชาติต่อลิตรแพงกว่าคนอเมริกัน 2.ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันลำดับต้นๆ ของโลกมากว่า 120 ปี มีมูลค่ามากกว่าการส่งออกข้าว 3.ค่าตอบแทนที่รัฐไทยได้รับจากสัมปทานถูกที่สุดกว่าประเทศอื่นๆ 26-28 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น บางประเทศสูงถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ เป็นข้อเท็จจริงที่เราสมควรไว้ใจรัฐไทยหรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่เคยเปิดเผยให้คนไทยรู้
 
4.ต้นทุนการขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทยถูกกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งเมื่อการลงทุนถูกกว่าย่อมที่จะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า แต่รู้หรือไม่ว่าค่าตอบแทนที่ได้รับน้อยกว่าพม่า กัมพูชา 5.ผลประโยชน์ควรตกอยู่กับท้องถิ่น แต่ข้อเท็จจริงกลับมีน้อยมาก 6.ไทยไม่เคยจัดทำข้อมูลสำรวจพลังงานด้วยตัวเองเลย มีแต่ข้อมูลที่ได้รับจากผู้รับสัมปทาน เชื่อหรือไม่ว่า เขมรยังมีชุดข้อมูลที่เป็นของรัฐเอง แต่ของรัฐไทยไม่เคยมี และ 7.ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาแบบไหนคิดเหมือนกันหมด ผู้ที่กำหนดทิศทางนโยบายพลังงานเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
 

“ผมเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายด้านพลังงานที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนมากที่สุดเกิดขึ้นเมื่อครั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี 2550 เปลี่ยนอัตราสัมปทานจาก 12.5 เป็น 15 แต่เอาเข้าจริง ไม่ได้มากกว่าเดิมเลย และยังเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมากขึ้น การต่อสู้ทางการเมืองประชาชนติดกับดักกับสิ่งที่จับต้องได้ ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องมือในการช่วงชิงเข้ากุมอำนาจทางการเมืองเท่านั้น และเชื่อหรือไม่ว่า 49 เปอร์เซ็นต์ของ ปตท.ตกไปอยู่ในกลุ่มทุนการเมือง
 
แม้ว่าดูเหมือนจะกว้างขวางแต่ข้อเท็จจริงจำกัดอยู่ในวงนี้เท่านั้น เรื่องเหล่านี้ต้องบอกใบ้ประชาชนรู้ผ่านสื่อ แต่ในมุมกลับกันจะเห็นได้ว่า ปตท.มีงบสนับสนุนสื่อสูงมาก ขณะที่ความเป็นกลางของสื่อไทยนั้นมีแค่ว่าให้ 2 คนพูดเท่ากัน เวลาเท่ากัน เนื้อที่เท่ากัน สุดท้ายคือคนไม่รู้เรื่อง แท้จริงแล้วรัฐไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ แต่ทำเพื่อกลุ่มทุนเท่านั้น เมื่อไว้วางใจไม่ได้ว่ารัฐคือ ตัวแทนของผลประโยชน์ของประชาชน แร่ปิโตรเลียมคือผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ก็ไม่ผิดที่ประชาชนจะเอาแร่ เอาปิโตรเลียมมาเป็นของประชาชน ทำไมต้องให้รัฐเป็นเจ้าของแร่ และปิโตรเลียมอีกทำไม จะเอามาเป็นของประชาชนไม่ได้” นายคำนูณกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการสัมมนาปัญหาพลังงาน ทำไมจึงกลายเป็นปัญหาท้องถิ่น ได้มีนักวิชาการอีกหลายคนเข้าร่วม ซึ่งได้แสดงทัศนะอย่างหลากหลายเช่น ดร.อาภา หวังเกียรติ นายสุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภา ดร.เลิศชาย ศิริชัย นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กรอุมา พงษ์น้อย กลุ่มอนุรักษ์บ้านบ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์ นายบุญโชค แก้วแกม นายกอบต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนักวิชาการ แกนนำกลุ่มคัดค้าน ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนากว่า 150 คน
 
หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันลงนาม “ปฏิญญาว่าด้วยการปกป้องวิถีชีวิตชุมชน” โดยมีสาระสำคัญคือ 1.นักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ องค์กรร่วมสัมมนา วิทยากร และผู้เข้าร่วมสัมมนา จะร่วมกันศึกษา และใช้ความรู้เพื่อเปิดเผยถึงความไม่ชอบธรรมของโลกพลังงานที่เปิดประตูให้กลุ่มทุนระดับต่างๆ เข้าแย่งชิงทรัพยากรจากท้องถิ่น และผลักภาระแบกรับผลกระทบที่เกิดขึ้นไปให้คนในท้องถิ่น 2.นักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ องค์กรร่วมสัมมนา วิทยากร และผู้เข้าร่วมสัมมนา จะใช้ความรู้เพื่อปกป้องท้องถิ่นให้สามารถรักษา และสืบทอดวิถีชีวิตของท้องถิ่นบนพื้นฐานการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของท้องถิ่น และความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม 3.นักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ องค์กรร่วมสัมมนา วิทยากร และผู้เข้าร่วมสัมมนาจะสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สามารถรู้เท่าทันการรุกรานของกลุ่มทุนในยุคโลกาภิวัตน์ สามารถสร้างเครือข่ายปกป้องแผ่นดินเกิด ทรัพยากร และวิถีชีวิตของตนเอง
 

กำลังโหลดความคิดเห็น