xs
xsm
sm
md
lg

วอนชาวบ้านปล่อยช้างป่ากินพืช-ผักในแปลงเกษตรอย่าทำร้าย-ให้ขอค่าชดเชยแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - รองอธิบดีกรมอุทยานฯ วอนชาวบ้านอย่าทำร้ายช้างป่ากินพืชผัก แต่ขอให้ติดต่อรับค่าชดเชยจากกองทุนฯแทน ชี้ทั่วประเทศมีปัญหาช้างป่าออกกินผลผลิตทางการเกษตรชาวบ้าน 30 พื้นที่

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กล่าวภายหลังการร่วมประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการช้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดลำปาง-ลำพูน และติดตามความคืบหน้าของโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และโครงการคืนช้างสู่ป่าเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ณ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง เกี่ยวกับการดูแลช้างป่าและช้างบ้านว่า ปัจุบันช้างบ้านมีทั้งสิ้นกว่า 4,000 เชือก ขึ้นอยู่ในการดูแลของ พ.ร.บ.สัตว์พาหนะของกระทรวงมหาดไทย ส่วนช้างป่ามีจำนวนกว่า 3,000 ตัว อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ 63 แห่งทั่วประเทศ

ซึ่งช้างป่าเหล่านี้มีอยู่ 30 พื้นที่จะมีปัญหากระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้าง เนื่องจากช้างป่าที่ออกจากป่ามากินพืชผักทางการเกษตร และถูกชาวบ้านทำร้าย โดยการยิง หรือใช้ไฟช็อตจนช้างเสียชีวิต ซึ่งถือเป็นเรื่องเศร้าและน่าเสียดายเป็นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนประชากรช้างมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ทั้งจากการตายโดยธรรมชาติ และตายจากอุบัติเหตุ รวมถึงการลักลอบฆ่าช้างเพื่อเอาอวัยวะ

ดังนั้น จึงอยากฝากถึงชาวบ้านหรือเกษตรกรว่าหากช้างป่าหรือช้างบ้านออกมากินพืชผลทางการเกษตรอย่าได้ทำร้ายช้าง แต่หากได้รับความเสียหายก็ขอให้มาติดต่อรับค่าชดเชยความเสียหายจากกองทุนพืช อาหารช้างป่าแห่งประเทศไทยแทน

ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากการตั้งกองทุนฯ แล้ว ทางกรมฯ ยัง ได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วยการเพิ่มพื้นที่ในการปลูกพืชอาหารช้างเพิ่มเติมในป่าเพื่อลดปัญหาเรื่องอาหารช้างขาดแคลน ช้างป่าจะได้ไม่หนีออกมาก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน

ส่วนโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้ดำเนินงานมาร่วม 15 ปี ปัจจุบันมีช้างที่ยังเหลืออยู่รวม 38 เชือก การดำรงชีวิตในป่าช้างสามารถหากินเองได้ตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากช้างที่นำมาเข้าโครงการมีอายุเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป จึงต้องให้สัตวแพทย์ออกตรวจสุขภาพช้างเป็นประจำ

และนอกจากนี้ยังจะต้องให้มีการติดตามดูพฤติกรรมของช้างเมื่อปล่อยไปแล้วว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวิจัยเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของช้างด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น