xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโครงการ “ชาวบ้านและผู้นำชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับช้างป่า” ที่กาญจน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดโครงการประชุมชาวบ้าน และผู้นำชุมชนเพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างชุมชนกับช้างป่า ที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (5 ก.ย.) ที่อาคารสัมมนาและค่ายเยาวชนอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดโครงการ “ประชุมชาวบ้านและผู้นำชุมชนเพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างชุมชนกับช้างป่า” โดยมีนายณรงค์ มหรรณพ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายเอิบ เชิงสะอาด ผอ.ส่วนสำนักสัตว์ป่าพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง นายกมล นวลใย หน.อช.เอราวัณ เจ้าหน้าที่อุทยานจำนวนมากเข้าร่วมโครงการ มีชาวบ้าน และผู้นำชุมชนในพื้นที่ร่วมเรียนรู้จากประสบการณ์ของชุมชนราษฎรของพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี แก่งกระจาน และทับลาน

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เนื่องจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงบริหารจัดการปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์เพื่อบรรเทาความขัดแย้งระหว่าสัตว์ป่ากับชุมชน โดยเฉพาะปัญหาของคนกับช้างป่า ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ที่มีช้างป่าที่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน โดยกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลช้างป่าโดยตรงได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยความร่วมมือสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WCS) กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF สำนักงานประเทศไทย ) เครือข่ายอนุรักษ์ช้าง (จังหวัดกาญจนบุรี) และภาคเอกชนต่างๆ เป็นต้น

การดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานสนับสนุน ได้เริ่มให้ชุมชน และราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้มากขึ้น เช่น การร่วมเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ช้างป่าออกมาทำลายพืชไร่ของประชาชน แต่มีข้อจำกัดที่การดำเนินงานทำได้เพียงบางชุมชนของพื้นที่อนุรักษ์บางแห่งเท่านั้น ได้แก่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี แก่งกระจาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และอีกประการหนึ่งที่สำคัญของการจะให้ชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสันติ และยั่งยืนนั้น ประชาชนจะต้องมีความเข้าใจ และตระหนักถึงบทบาทที่จะต้องแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตนเอง จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้น และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนเหล่านี้

โดยเมื่อปี พ.ศ.2554 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้จัดการประชุมผู้นำชุมชน และชาวบ้านเพื่อประเมินการแก้ปัญหาช้างป่าออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าในหัวข้อ “เข้าใจช้าง เข้าใจเราคนกับช้างป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”

โดยพื้นที่เป้าหมายได้เน้นไปที่ชุมชน และราษฎรของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 4 แห่งที่ปัญหากำลังมีความรุนแรงมากขึ้น คือ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ คลองเครือหวาย เขาอ่างฤาไน และภูหลวง

ซึ่งโครงการประชุมชาวบ้าน และผู้นำชุมชนเพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างชุมชนกับช้างป่าในครั้งนี้คาดว่า จะสามารถสร้าง และขยายเครือข่ายชุมชน และชาวบ้านที่มีความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการแนวทางในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าได้อย่างยั่งยืนต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น