อุตรดิตถ์ - จังหวัดอุตรดิตถ์ ประชุมหาแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน กรณีชาวอำเภอท่าปลาเรียกร้องขอเอกสารสิทธิในที่ดิน และขอขยายท่อน้ำตามโครงการพระราชดำริ หลังได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์นานถึง 45 ปี
จากกรณีราษฎรชาวตำบลร่วมจิต และตำบลจริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ รวมตัวและชุมนุมปิดถนนบริเวณสามแยกร่วมจิต ถนนสายเขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเรียกร้องให้ทางราชการช่วยเหลือแก้ไขปัญหากรณีเอกสารสิทธิที่ดินที่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ตั้งแต่ปี 2514 ทำให้ต้องอพยพเข้าอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน
ในปี 2522 กรมป่าไม้ ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลำน้ำน่านฝั่งขวา ทับซ้อนกับพื้นที่ของนิคมฯ ที่แบ่งแปลงจัดสรรให้แก่ราษฎร จากการตรวจสอบภายหลังปรากฏว่า เป็นส่วนของพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 5,680 ไร่ และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ซึ่งกรมป่าไม้มอบให้ ส.ป.ก.ดำเนินการปฏิรูป จำนวน 6,200 ไร่ ทำให้ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ (น.ค.3) ให้แก่สมาชิกนิคมลำน้ำน่านได้ ปัจจุบัน ยังไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ โดยอ้างว่า ที่ดินไปทับเขตป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ซึ่งเป็นความเดือดร้อนของชาวอำเภอท่าปลาที่ยังขาดการดูแลจากภาครัฐมากว่า 45 ปี
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมตัวแทนภาคประชาชน ร่วมประชุมหารือสรุปเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา
โดยมีมติให้ป่าไม้ทำหนังสือยืนยันขอเพิกถอนเขตป่าสงวน เฉพาะส่วนที่มีการซ้อนทับกับพื้นที่ที่ราษฎรผู้อพยพใช้ประโยชน์ มิใช่จัดพื้นที่ป่าใหม่ เนื่องจากเป็นกรณีเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่สั่งสมมายาวนาน ตลอดจนให้ป่าไม้ติดตามเร่งรัดไปยังส่วนกลาง และให้นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ทำหนังสือเพื่อขอยืนยันร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมฯ เพื่อขยายพื้นที่เขตนิคมเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนที่ได้มีการจัดสรร
ในส่วนของกรณีพื้นที่ทับซ้อน ได้ข้อสรุปว่า มติ ครม.เมื่อปี 2552 มีพระราชกฤษฎีกาให้นิคมฯ ขยายพื้นที่ โดยทางจังหวัดอุตรดิตถ์จะทำหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เร่งรัดติดตามขยายเขตพื้นที่นิคมลำน้ำน่าน จำนวน 11,880 ไร่ และให้มีการตรวจสอบจัดทำแผนที่ทับซ้อน และติดตามเรื่องการขอเพิกถอนพื้นที่ป่าไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรมป่าไม้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการออกโฉนดให้แก่ประชาชนในโอกาสต่อไป
ส่วนเรื่องการวางท่อน้ำตามโครงการพระราชดำริให้แก่ราษฎรชาวอำเภอท่าปลานั้น ที่ประชุมมีมติให้มีการปักแนวท่อให้ได้ประโยชน์ได้ครบทุกหมู่บ้าน ด้วยงบประมาณ 28 ล้านบาท และยังมีในส่วนที่จะขยายเพิ่มเติมไปหมู่ที่ 1 ตำบลร่วมจิตที่จะวางท่ออีกประมาณ 1,300 เมตร งบประมาณ 2,500,000 บาท ซึ่งที่ประชุมมีความพอใจ และจะให้มีคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดด้วย