xs
xsm
sm
md
lg

วัดป่าบ้านตาดเปิดเสวนา “วิทยุเสียงธรรมกับการปฏิรูปสื่อของ กสทช.” จี้ทบทวนออกระเบียบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสวนาเรื่องวิทยุเสียงธรรม กับการปฏิรูปสื่อ ของ กสทช. ซึ่งมีพระครูนิมิตวิทยากร เจ้าอาวาสวัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน จ.เชียงใหม่ พระรัฐวีร์ ฐิตวีโร เจ้าอาวาสวัดป่ากกสะท้อน จ.อุดรธานี, พระครูอรรถกิจนันทคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร และ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ นักวิชาการ และนางจุฑารส พรประสิทธิ์ ตัวแทนศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อร่วมเสวนา โดยมีนายสำราญ รอดเพชร ดำเนินรายการ
อุดรธานี - ศิษย์หลวงตามหาบัวจัดเสวนาประเด็นร้อน “วิทยุเสียงธรรม กับการปฏิรูปสื่อของ กสทช.” ท่ามกลางความสนใจของญาติธรรมเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก พระครูนภดล นันทโน ย้ำระเบียบใหม่ของคณะกรรมการ กสทช.ทำสถานีวิทยุเสียงธรรมกว่า 120 แห่งทั่วประเทศได้รับผลกระทบหนัก ทั้งที่ถ่ายทอดมรดกธรรมของหลวงตามหาบัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อย่าเหมารวมกลุ่มวิทยุธุรกิจ นักวิชาการจี้ทบทวนการออกระเบียบของ กสทช.ใหม่

วันนี้ (1 ต.ค.) ที่วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมและเครือข่ายวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะจัดเสวนาเรื่องวิทยุเสียงธรรมกับการปฏิรูปสื่อของ กสทช. ซึ่งมีพระครูนิมิตวิทยากร เจ้าอาวาสวัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน จ.เชียงใหม่ พระรัฐวีร์ ฐิตวีโร เจ้าอาวาสวัดป่ากกสะท้อน จ.อุดรธานี, พระครูอรรถกิจนันทคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร และ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ นักวิชาการ และนางจุฑารส พรประสิทธิ์ ตัวแทนศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อร่วมเสวนา โดยมีนายสำราญ รอดเพชร ดำเนินรายการ

ในเวทีการเสวนาในครั้งนี้วิทยากรได้พูดคุยถึงเรื่องการกระทำของคณะกรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คนที่ได้ออกประกาศระเบียบการกำหนดคลื่นความถี่และระเบียบการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนออกมา ทำให้วิทยุชุมชนทั่วประเทศเกิดความเดือดร้อน โดยเฉพาะคลื่นวิทยุชุมชนเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน อีกทั้งการกระทำของคณะกรรมการทั้ง 11 คนยังเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอีกกลุ่มหนึ่งแบบเลือกปฏิบัติ โดยมีพุทธศาสนิกชนและประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมฟังการเสวนาฯ ในครั้งนี้จำนวนมาก

ตลอดการเสวนาได้ทำการถ่ายทอดเสียงผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีดี และเอสบีที ทีวี และสถานีวิทยุเสียงธรรมทั่วประเทศทั้ง 124 แห่ง โดยมีสถานีวิทยุเสียงธรรมบ้านตาดเป็นแม่ข่าย

พระครูอรรถกิจ นันทคุณ หรือพระอาจารย์นภดล นันทโน เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า เนื่องจากคณะกรรมการ กสทช.จำนวน 11 คนที่มีอำนาจในการจัดสรรวิทยุ โทรทัศน์ ได้มีมติออกประกาศระเบียบการกำหนดคลื่นความถี่และระเบียบการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนออกมาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2555 แล้วนั้น สร้างความกระทบกระเทือนให้สถานีวิทยุเสียงธรรมทั่วประเทศที่ถือว่าเป็นมรดกธรรมของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นอย่างมาก ในฐานะของลูกหลานก็จำเป็นที่จะต้องร่วมกันรักษามรดกดังกล่าวนั้นเอาไว้

สถานีวิทยุเสียงธรรมที่ดำเนินการออกอากาศมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วนั้น เป็นสถานีวิทยุเพื่อประชาชน ไม่ได้มีการใช้ไปในทางเพื่อผลประโยชน์ สถานีทุกแห่งทั่วประเทศมีประชาชนผู้ศรัทธาต่อหลวงตามหาบัว และธรรมะช่วยกันบริจาคค่าใช้จ่ายทุกแห่ง และการออกอากาศเพื่อธรรมะเพื่อประชาชน

ซึ่งการที่จะนำเอากฎระเบียบที่ใช้กับสถานีวิทยุเพื่อการพาณิชย์ หรือที่เรียกว่าวิทยุธุรกิจ ที่อนุญาตให้สามารถทำการโฆษณาหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายได้นั้น ไม่เป็นธรรมต่อสถานีวิทยุเสียงธรรม เพราะสถานีวิทยุดังกล่าวนี้ดำเนินการอยู่ภายใต้กฎหมายของ พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2553 และภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ทางคณะกรรมการ กสทช.นั่นแหละกำลังทำผิดกฎหมาย

ด้าน ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ ตัวแทนกลุ่มนักวิชาการ กล่าวว่า ความคิดของ กสทช.เพียงแค่จะกำหนดกรอบเอาสถานีวิทยุทุกแห่งอยู่ในกรอบของมาตรฐานทางด้านเทคนิคเท่านั้น โดยยกเอาเหตุเพียงว่าสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศมีมากมายถึงกว่า 7,000 แห่ง และเพียงต้องการที่จะลดจำนวนสถานีวิทยุให้เหลือน้อยลงเท่านั้น จีงเอาสถานีทุกแห่งมารวมกันแล้วคิดแบบง่ายๆ เฉลี่ยเท่ากันไปทุกแห่ง คือ ทุกสถานีจะต้องลดลงอยู่ในกรอบกำหนด คือ แรงส่ง 500 วัตต์ เสาอากาศสูง 60 เมตร

แต่ในขณะเดียวกัน สถานีวิทยุหลายแห่งในกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ในอาคารสูงๆ กำลังส่งเกินกว่า 500 วัตต์ เสาตั้งอยู่บนหลังคาที่สูงเกินกว่า 60 เมตร กสทช.ก็ไม่ได้ไปดูแล ซึ่งข้อกำหนดของ กสทช.ดังกล่าวนั้นไม่ได้มีวิชาการมารองรับแต่อย่างใด

กสทช.จะต้องไปทบทวนกำหนดระเบียบเสียใหม่ เพราะวิทยุเสียงธรรมไม่ได้อยู่ในกลุ่มของวิทยุธุรกิจ แต่เป็นสถานีวิทยุเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริง สมควรจะได้รับการสนับสนุนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
พระครูอรรถกิจ นันทคุณ หรือ พระอาจารย์นภดล นันทโน








กำลังโหลดความคิดเห็น