ฉะเชิงเทรา - “พระมหาแผน ฐิติธัมโม” พระสงฆ์ผู้ทุ่มเทสรรค์สร้างเพิ่มโอกาสส่วนย่อยจากซอกมุมเล็กๆ ที่ถูกมองข้ามในสังคมกับการปรับเปลี่ยนอนาคตกระบวนการขับเคลื่อนคนในชาติอย่างมีคุณธรรม เสริมต่อห้วงโอกาสที่หายไปของเด็กชนบท แต่ยิ่งใหญ่ต่อความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ถือเป็นสิ่งเคลือบเสริมจรรโลงถ่วงดุลสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ด้วยศีลธรรม ความรู้ ควบคู่กับการฝึกอาชีพ เป็นเยาวชนคุณภาพดีของชาติสืบต่อไป
“พระมหาแผน ฐิติธัมโม” พรรษา 33 วัย 53 ปี เจ้าอาวาสวัดบ่อเงินบ่อทอง (สำนักสงฆ์บ่อเงินบ่อทองเดิม) ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.15 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นพระสงฆ์ผู้สร้างสรรค์ทางปัญญา สายทางการเผยแผ่พระศาสนา สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม นำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามาบรรจุควบคู่กับการเรียนรู้สายสามัญให้แก่เด็กๆ ผู้ขาดโอกาสทางปัญญาในชนบททั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
จากปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน จนเกิดเป็นความแตกแยกวุ่นวายในปัจจุบัน ด้วยเหตุเพราะคนขาดคุณธรรมเป็นเครื่องจรรโลงจิตใจ ขาดการถ่วงดุล ผู้คนไม่กลัวกฎหมาย ไม่กลัวบาป ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และระเบียบของสังคมที่เคยมีมา จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนในชาติอยู่ในขณะนี้ที่ต้องได้รับการปรับแต่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน
พระมหาแผนจึงถือเป็นเฟืองจักรเล็กๆ ของสังคมที่กำลังขับเคลื่อนแนวทางในการที่จะปรับแก้ไขปัญหา ในภาคส่วนของพระศาสนา ด้วยการเปิดช่องทางการศึกษา ทางเลือกอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อเสริมช่วยขัดเกลาเยาวชนอนาคตของสังคมให้เป็นคนดีได้ ในแต่ละปีจึงได้เดินทางออกเร่สัญจรไปตามแหล่งสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดทางภาคอีสาน ที่สถาบันครอบครัวจำนวนมากอ่อนแอ
เพราะถูกบีบรัดทางด้านเศรษฐกิจจนขัดสน พ่อ-แม่ ในวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่จึงจำต้องทิ้งถิ่นฐานออกไปหางานทำยังต่างพื้นที่ และปล่อยทิ้งลูกน้อยในวัยที่ต้องการความดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดไว้แต่เพียงลำพัง อาศัยอยู่กับตาและยายที่คอยช่วยเลี้ยงดู จนนำไปสู่ความไม่ทั่วถึงของการขัดเกลาจิตใจให้เป็นบุคลากรของชาติในอนาคตที่ดีตามยุคสมัยได้
หลายครอบครัวจึงได้ฝากความหวังมาไว้ให้แก่ทางโรงเรียนที่เปิดสอนด้านทางธรรม สายนักธรรมบาลี ควบคู่กับการศึกษาทางด้านสายสามัญ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ของพระมหาแผนแห่งนี้ เพื่อให้เข้ามาอยู่ในอ้อมกอดของพระศาสนาด้วยการเข้ามาบวชเรียน บรรพชาเป็นสามเณร เพื่อศึกษาทั้งทางโลก และทางธรรม ด้วยหลักสูตรสายสามัญทั่วไป ควบคู่แถมท้ายไปกับการฝึกอาชีพ ที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือทำกินได้ในอนาคต หากเมื่อต้องการสึกออกไปเมื่อครบวาระ
ในแต่ละปี โรงเรียนแห่งนี้จะมีเด็ก และเยาวชนที่ญาติโยมประสงค์ให้เข้ามาเรียนรู้ร่วมอยู่ด้วย ในความดูแลระหว่าง 50-100 รูป ตามลำดับชั้นของการศึกษา ม.1-ม.6 โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่วุฒิการศึกษาที่ได้ไปนั้น จะเป็นไปตามวุฒิที่ทางกระทรวงศึกษาธิการรับรอง เช่นเดียวกับการศึกษาอยู่ในโรงเรียนมัธยมทั่วไป ขณะที่ครูอาจารย์ผู้สอนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพระสงฆ์ที่จบการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม ในระดับปริญญาตรี-โท รวมถึงครูอาจารย์ผู้สอนที่เป็นฆราวาสอีกส่วนหนึ่งด้วย
สถานศึกษาแห่งนี้จึงถือเป็นช่องทางการศึกษาทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งในศาสนสถานให้เป็นสถานแห่งการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนผู้สนใจในทางธรรม และขาดเส้นทางของการเดินไปสู่อนาคตที่ดีกว่า จากการที่ไม่มีทุนทรัพย์ และโอกาสในการเข้าศึกษาร่ำเรียนในสถานศึกษาที่ดีมีชื่อเสียง
หลวงพ่อแห่งสำนักบ่อเงินบ่อทอง เล่าถึงเรื่องราวในอดีต และมูลเหตุแห่งการเปิดช่องทางการศึกษาเรียนรู้แห่งนี้ว่า เดิมเป็นชาว อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ในสมัยอดีตนั้นเคยอยากเรียนหนังสือให้สูงๆ เพื่อมีอนาคตที่ก้าวไกล แต่ไม่มีโอกาสได้ร่ำเรียนเนื่องจากฐานะทางครอบครัวยากจนจึงจบการศึกษาแต่เพียงเบื้องต้นแค่ชั้น ป.4 ก็จำต้องออกมาช่วยพ่อกับแม่ทำงาน
เมื่อเติบโตจนเต็มวัยครบบวชเรียนได้เมื่อครั้งอายุ 20 ปี จึงได้มองเห็นว่าการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในศาสนสถาน หรือวัดนั้น ยังช่วยคนไม่ได้มากเท่ากับการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ ตลอดจนในอดีตก็ได้มีโอกาสไปพบเห็นเด็กๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะในแถบทางภาคอีสานนั้นยังขาดโอกาสทางการศึกษาอยู่มาก จึงได้เลือกที่จะหันมาทำงานทางด้านการศึกษาที่ดีกว่า นี่ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดมีแรงบัลดาลใจ เพราะทราบดีอยู่ว่าเวลาที่เราอยากจะเรียนแล้วไม่ได้เรียนนั้นเป็นอย่างไร
“การศึกษาทั่วไปสมัยนี้นั้น ไม่ได้นำเอาคุณธรรมนำหน้าการเรียนรู้ แต่การศึกษาเรียนรู้ที่นี่นำหลักธรรมนำหน้าสามัญ เด็กที่จบไปจากที่นี่จึงมีความมั่นใจได้อย่างแน่นอนว่าเปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรมนำการดำรงชีวิตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการอยู่ด้วยกันด้วยความรัก ความสามัคคี ความเสียสละ โดยมีหลักของพระศาสนาเป็นตัวตั้งไว้ ตลอดระยะเวลากว่า 19 ปีที่ผ่านมานั้น คุณภาพของบุคคลผู้ที่จบผ่านไปจากโรงเรียนแห่งนี้ จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพของพลเมืองที่ดี และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองรอดได้ทุกลู่ทาง” เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของพระมหาแผน ผู้สร้างปัญญา