บุรีรัมย์ - ชาวบ้านหนองรี อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ลุกฮือต่อต้านเทศบาลเมืองนางรอง จ้างผู้รับเหมาทุบรื้อถอนเมรุเผาศพ สำนักสงฆ์หนองรี หลังศาลปกครองสั่งให้ทุบทิ้งตามที่มีผู้ร้องหวั่นสร้างมลพิษให้ชุมชน ท่ามกลางกำลังตำรวจ ทหารคุ้มกันเข้มหวั่นปะทะ สุดท้าย ชาวบ้านต้องยอมรับคำตัดสินศาล ได้แต่เฝ้าดูสิ่งที่ช่วยกันสร้างมากับมือ ถูกทุบทำลายไม่เหลือแม้แต่ซากด้วยความสลดหดหู่ใจ
วันนี้ (14 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักสงฆ์หนองรีศรีพยุงวนาราม หมู่ 12 ต.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้มีชาวบ้านชุมชนหนองรี กว่า 100 คน รวมตัวกันออกมาต่อต้านเทศบาลเมืองนางรอง ที่ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายควบคุมอาคาร ว่าจ้างผู้รับเหมามาดำเนินการรื้อถอนเมรุเผาศพ ของสำนักสงฆ์หนองรีศรีพยุงวนาราม ตามคำสั่งศาลปกครอง จ.นครราชสีมา ให้ทำการรื้อถอน เนื่องจากได้มีผู้ร้องเรียนว่า เมรุดังกล่าวจะก่อให้เกิดมลพิษส่งผลกระทบต่อชุมชน แต่ชาวบ้านกลุ่มต่อต้านได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร ร่วม 50 นาย ที่มารักษาความปลอดภัยกันออกจากพื้นที่ที่มีการรื้อถอนเมรุ เพราะหวั่นเกิดเหตุปะทะรุนแรงระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มผู้รับเหมา เพื่อให้การทุบเมรุแล้วเสร็จตามกำหนด
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก ศาลปกครอง จ.นครราชสีมา ได้มีคำสั่งให้ทำการรื้อถอนเมรุเผาศพ เนื่องจากได้มีผู้ร้องเรียนว่าเมรุดังกล่าวจะก่อให้เกิดมลพิษส่งผลกระทบต่อชุมชน ทั้งที่ชาวบ้านในชุมชนมีมติเห็นชอบให้ใช้เงินโครงการ SML จำนวน 300,000 บาท และชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงินสมทบในการก่อสร้างเมรุ รวมเป็นเงินร่วม 1 ล้านบาท โดยได้ทำการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2549 แต่เมื่อก่อสร้างใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว กลับมีผู้ไปฟ้องร้องศาล และศาลได้มีคำสั่งให้รื้อถอนในที่สุด
พร้อมกันนี้ ชาวบ้านที่มารวมตัวกันคัดค้านการรื้อเมรุยังได้พากันจุดธูปกราบไหว้อาลัยเมรุดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้นายอำเภอนางรอง และนายกเทศมนตรีเมืองนางรองออกมาแสดงความรับผิดชอบ ที่ปล่อยปละละเลยไม่ติดตามเรื่องจนถูกศาลสั่งให้รื้อถอน ทั้งที่ทั้งสองเป็นผู้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างได้ ซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และชาวบ้านก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะมีการทุบเมรุ ทั้งที่เมรุดังกล่าวสร้างใกล้แล้วเสร็จเกือบจะเปิดใช้งานได้แล้ว โดยแบบและการก่อสร้างได้ผ่านการอนุมัติจากนายกเทศมนตรีเมืองนางรอง และนายอำเภอนางรองให้ก่อสร้างอย่างถูกต้อง
นายบุญเลี้ยง ทองประภา อายุ 64 ปี ตัวแทนชาวบ้าน บอกว่า ชาวบ้านยอมรับคำตัดสินของศาลที่ให้มีการรื้อถอนเมรุ แต่อยากให้ทางอำเภอนางรอง และเทศบาลเมืองนางรอง ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้มีการก่อสร้างเมรุดังกล่าว ได้แสดงความรับผิดชอบ ทั้งที่ทั้งสองตกเป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในคดีการร้องเรียนดังกล่าวด้วย
พร้อมทั้งอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหางบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างเมรุหลังใหม่ให้แก่ชาวบ้านด้วย เพราะหากมีผู้เสียชีวิตในชุมชนต้องแห่ศพไปเผายังวัดซึ่งอยู่ห่างไกลจากชุมชนมากกว่า 3 กิโลเมตร
“การรื้อทุบเมรุที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้าง เหมือนเป็นการมาทำลายหัวใจชาวบ้านอย่างไร้มนุษยธรรม และกดดันจิตใจประชาชนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หากเป็นไปได้ไม่ให้เผาศพไม่เป็นไร แต่ขอให้คงเมรุอยู่จะได้ไหม ไม่ใช่มาทุบทำลายกันเช่นนี้” นายบุญเลี้ยงกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กันออกมาจากพื้นที่การรื้อถอนเมรุแล้ว ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชราต่างก็พากันมานั่งจับกลุ่มมองดูการทุบเมรุ บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ รู้สึกสลดหดหู่ใจกับที่สิ่งที่ร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้างขึ้นมาแล้วถูกทุบทำลายไปต่อหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ชาวบ้านช่วยกันก่อสร้างมาเป็นแรมปี สุดท้ายไม่เหลือแม้แต่ซากให้เห็น