xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มผู้ประกอบอาชีพโพงพาง บุกศาลากลางเพชรทวงคำตอบจังหวัด หลังโดนหักหลัง ประมงจังหวัดบุกรื้อถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - กลุ่มผู้ประกอบอาชีพใช้โพงพางเป็นอุปกรณ์จับปลาในพื้นที่ตำบลบางตะบูน กว่า 100 คน บุกศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ทวงคำตอบจากจังหวัดหลังยื่นหนังสือขอขยายเวลารื้อถอนโพงพางอ้างไม่มีอาชีพทำกินไปเมื่อวานนี้่ แต่กลับโดนทางประมงทำการรื้อถอนในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ด้านประมงจังหวัดเพชรบุรีกร้าวใส่ ทำตามขั้นตอนกฎหมาย

วันนี้ (17 ส.ค.) กลุ่มชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพใช้โพงพางเป็นอุปกรณ์จับปลา ต.บางตะบูน ต.บ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี กว่า 100 คน นำโดย นายเป๋งเอี๊ยง ตะบูนพงศ์ ประธานกลุ่มโพงพางดักขยะ ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรีอีกครั้ง เพื่อมาเรียกร้องขอคำตอบจากทางจังหวัดเพชรบุรี หลังเมื่อวานนี้ (16 ส.ค.) ชาวบ้านกว่า 200 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องต่อ นายประสาน วงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ขอให้เสนอเรื่องต่อกรมประมงในการผ่อนผันการรื้อถอนทำลายโพงพาง และให้จังหวัดเพชรบุรี และประมงจังหวัดเพชรบุรี ดำเนินการช่วยเหลือ เนื่องจากยังไม่มีอาชีพมารองรับ ที่สำคัญ เป็นการตัดเส้นทางทำมาหากินของชาวบ้านที่มีฐานะยากจนอย่างสิ้นเชิง และทางภาครัฐยังไม่มีการสนับสนุนอาชีพใหม่ให้แก่ชาวบ้าน

โดยเมื่อวานนี้ ทางจังหวัดบอกกับชาวบ้านที่มาเรียกร้องให้เดินทางกลับบ้าน และบอกให้สบายใจได้ เพราะจะไม่มีการรื้อถอนโพงพาง แต่พอถึงช่วงเย็นวานนี้ (16 ส.ค.) กลับมีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงทะเล นำเรือขนาดใหญ่พร้อมนำกำลังเจ้าหน้าที่มาทำการรื้อถอนโพงพางของชาวบ้านจนได้รับความเสียหาย

นายประสาน วงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้ลงมาชี้แจงกับชาวบ้านว่าทางจังหวัดไม่มีอำนาจไปชะลอการรื้อถอนได้ อันเป็นอำนาจของทางกรมประมง ซึ่งทางกรมประมงได้ชี้แจงว่า ได้เคยแจ้งให้ชาวบ้านทราบมาก่อนล่วงหน้าแล้ว และทางกรมประมงจะทยอยทำการรื้อถอนโพงพางที่มีอยู่ในหลายจังหวัดให้หมด โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้แนะให้ชาวบ้านไปร้องต่อกรมประมง ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องเอง ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจที่ข้อเรียกร้องไม่ได้ผล และเตรียมใช้มาตรการกดดันอย่างอื่น แต่ก็ยังไม่บอกว่าจะใช้มาตรการใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการรวมตัวเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพโพงพาง ที่เกิดขึ้นอีกครั้งในวันนี้ เป็นผลมาจากเมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากกรมประมงได้ใช้เรือตรวจการณ์ และเรือขนาดใหญ่ทำการรื้อถอนเสาโพงพางที่ปักอยู่บริเวณร่องน้ำ บริเวณปากอ่าวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยวิธีใช้เชือกผูกเสาแล้วใช้เรือขนาดใหญ่ลากให้เสาหัก โดยชาวบ้านที่เห็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ต่างมีสีหน้าตกใจ และผิดหวังกับการกระทำ พร้อมกับระบุว่า ทำไมภาครัฐไม่มีทางออก และไม่นึกถึงหัวอกของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพใช้โพงพางที่หาเช้ากินค่ำบ้าง

นายมนัส ทัพพลี อายุ 40 ปี 1 ในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกล่าวด้วยความเสียใจว่า รู้สึกเสียใจกับการกระทำของรัฐ เหมือนเป็นการทุบหม้อข้าวหม้อแกง ทำลายแหล่งทำมาหากินเลี้ยงชีพของชาวบ้านที่มีมานับ 100 ปี ไม่นึกถึงหัวอกชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ เพราะอาชีพทำโพงพางเป็นอาชีพของคนที่มีฐานะยากจนที่ไม่มีทุนไปจับจองพื้นที่เลี้ยงหอย หรือทำประมงอื่นใช้เป็นแหล่งทำกินเพียง 10 กว่าวันใน 1 เดือนเท่านั้น

“หลังจากถูกทำลายแหล่งทำกินถามว่าผู้ที่รื้อเคยนึกถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านบ้างไหม หลังจากนี้เขาจะทำอย่างไร สมาชิกในครอบครัวจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และการที่บอกว่าโพงพางผิดกฎหมายเป็นเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำขนาดเล็กนั้นยืนยันว่าไม่จริง สัตว์น้ำที่จับได้เป็นสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีอายุสั้น สัตว์น้ำที่จับได้ส่วนมากจะเป็นพวกกุ้งทะเล และก็ไม่ดักตลอดเวลาจะใช้จังหวะช่วงน้ำลงเท่านั้น และหลังจากโพงพางถูกรื้อทำลายแล้วผู้ประกอบอาชีพนี้ซึ่งส่วนมากเป็นคนที่มีฐานะยากจนก็ไม่สามารถเข้าไปจับสัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่เลี้ยงหอยที่ถูกจับจองไว้หมดแล้ว ส่วนกลุ่มชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพใช้โพงพางเป็นอุปกรณ์จับปลาใน ต.บางตะบูน ต.บ้านแหลม อ.บ้านแหลม มีมากกว่า 150 ครอบครัว”

ด้าน นางขวัญฤทัย ถนอมเกียรติ ประมงจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า หลังจากรับเรื่องเมื่อวานนี้แล้วทางจังหวัดได้รับเรื่อง และสั่งให้ทำหนังสือส่งไปที่กรมประมงให้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องที่ชาวบ้านขอขยายเวลาในการรื้อถอนโพงพาง ซึ่งก็ได้ส่งแฟกซ์ไปที่กรมประมงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นอำนาจของอธิบดีกรมประมงที่จะตัดสินใจประเมินสถานการณ์ ซึ่งได้สั่งตรงมาที่หน่วยปฏิบัติเลย

ส่วนโพงพางที่ทำการรื้อถอนนั้นก็จะรื้อถอนเฉพาะโพงพางที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งโพงพางถึงแม้จะสืบทอดกันมาตั้งรุ่นปู่ รุ่นย่า ก็ไม่สามารถตกทอดให้เป็นมรดกก็เหมือนกับแก่แล้วไม่สามารถทำได้ก็ไม่มีการจ้างวานก็ต้องยกเลิกโพงพางนั้นไป แต่ในจังหวัดเพชรบุรี ที่ถูกต้องตามกฎหมายมีเพียง 4 ราย โดยคนที่เป็นเจ้าของก็มีอายุมากกว่า 80 ปีแล้ว บางคนก็ยังมีแรงทำอยู่ แต่บางรายก็ให้ลูกหลานไปช่วย ซึ่งทางประมงก็อนุโลมให้

“แต่พวกที่รื้อถอนไปแล้วได้ดำเนินการตามขั้นตอนแจ้งล่วงหน้าไปแล้วว่าให้ทำการรื้อถอนสมบัติของเขาออกไป ไม่ว่าจะเป็นอวน หรือเสา แต่ที่ชาวบ้านบอกว่ายากจนไม่มีอาชีพทำกินนั้น จากการสำรวจทุกครัวเรือนแล้วที่มีอาชีพทำโพงพาง พบว่าอยู่เหนือเกณฑ์ จปฐ.ของจังหวัด ส่วนอาชีพก็ให้ไปหาอาชีพที่สุจริตทำ โดยที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่จัดหางาน กรมพัฒนาชุมชนเข้าไปดำเนินการแต่ชาวบ้านไม่ให้ความสนใจ”


กำลังโหลดความคิดเห็น