เพิ่งผ่านพ้น “งานโชว์” ภาพลักษณ์ “ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ไปได้ไม่กี่วัน “น้ำท่วม” ก็เกิดขึ้นมาทดสอบศักยภาพของ “ปู-เอาอยู่” จริงหรือไม่ !?
เมื่อน้ำเหนือไหลทะลักลงมาถึงตัวเมืองสุโขทัย ที่มีกำแพงกั้นริมน้ำยมป้องกันน้ำท่วมตลอดแนว แต่แม้ว่าระดับน้ำยังไม่ถึงจุดวิกฤตที่ 7 เมตรเศษ โดยอยู่ในระดับเพียง 6 เมตรเศษเท่านั้น ด้วยกระแสน้ำที่เชี่ยวกราด กลับเซาะพื้นพนังคอนกรีตจนเป็นโพรงกว้างนับ 10 เมตร ทำให้น้ำยมทะลักเข้าท่วมตัวเมืองสุโขทัย ตั้งแต่กลางดึกของคืนวันที่ 9 ก.ย.55 ที่ผ่านมา
จนทำให้พื้นที่ย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองสุโขทัย รวมไปถึงที่ตั้งศาลากลางจังหวัดฯ , อบจ.,เทศบาลฯ,ที่ว่าการอำเภอ ตลอดจนโรงเรียนต่าง ๆ อีกหลายโรง จมใต้บาดาลทันทีตั้งแต่บัดนั้น
นายสุนันท์ ฟุกฟัก อายุ 45 ปี ชาวบ้านชุมชนราชธานี เปิดเผยว่า น้ำท่วมตลาดเทศบาลครั้งนี้ นับว่าหนักกว่าปี 49 เพราะปี 49 น้ำท่วมแค่ในตัวตลาด แต่ปีนี้น้ำขยายวงกว้างเข้าไปท่วมในหลายชุมชน โดยเฉพาะที่ชุมชนราชธานี ภายในบ้านของตัวเองถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ทำให้ทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก ส่วนที่ร้านเจ๊หงส์ขายอาหารสัตว์อยู่ในตัวตลาด ซึ่งตนทำงานอยู่ที่นั่นด้วย ก็ถูกน้ำท่วมเสียหายหนัก คาดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทแน่นอน
นางนิสารัตน์ คลี่ใบ อายุ 50 ปี แม่ค้าตลาดสดเทศบาลฯ เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ มาเร็วมากจนเตรียมตัวไม่ทัน พอมีการประกาศแจ้งเตือนภัย ก็มองเห็นน้ำทะลักเข้ามาแล้ว และเพียง 1 ชั่วโมง น้ำก็ท่วมเต็มตลาดสด สินค้าในร้านโชห่วยของเธอก็จมน้ำเสียหายหมดกว่า 200,000 บาท
ตามรายงานของ ปภ.สุโขทัย ณ เช้าวันที่ 11 ก.ย.55 ระบุว่า มีชาวบ้านประสบกับความเดือดร้อนทั้งสิ้น 12,681 คน 6,288 ครอบครัว จากพื้นที่ ที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด 4 อำเภอ 20 ตำบล 86 หมู่บ้าน 12 ชุมชน
ขณะที่ยอดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมเที่ยวนี้ มีการประเมินกันว่า มีไม่ต่ำกว่า 1 พันล้าน !!
ซึ่งท่ามกลางความโกลาหลที่เกิดขึ้น หน่วยงานในพื้นที่ได้เร่งขนบิ๊กแบ็กเข้าอุดรอยรั่วของพนังคอนกรีตริมน้ำยมเต็มที่ตั้งแต่บ่ายวันที่ 10 ก.ย.55 แต่ก็ต้องยุติลงในเวลาประมาณ 04.00 น.วันรุ่งขึ้น(11 ก.ย.) เมื่อทำไปได้เพียง 50% เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวกราก ได้พัดเอาบิ๊กแบ็กหนักกว่า 1.5 ตันหายไปกระแสน้ำ ตัวเมืองสุโขทัย ต้องจมใต้บาดาลต่อไป!!
กระทั่งเย็นวันที่ 11 ก.ย.55 หลังน้ำทะลักท่วมเมืองสุโขทัย ได้เกือบ 3 วัน จึงมีการสั่งการให้ใช้แกเบรียลสกัดน้ำแทนบิ๊กแบ็ก ก่อนที่จะระดมเครื่องสูบน้ำ 60 เครื่องสูบน้ำออกจากเมืองสุโขทัยต่อไป แต่แน่นอน มวลน้ำระลอกนี้ ต้องมุ่งหน้าลงพื้นที่ทางตอนใต้ เข้าสู่โซน “บางระกำโมเดล” ที่เคยทำให้ “ปู-ยิ่งลักษณ์” เสียรังวัดมาแล้ว เมื่อคราวมหาอุทกภัยปี 54 ที่ผ่านมา
เมื่อ 10 ก.ย.55 มวลน้ำบางส่วนไหล ก็ได้บ่าถึงพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และเอ่อล้นคลองเกตุ คลองกล่ำ ที่บ้านหมู่ 9 บ้านตะแบกงาม ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรของ หมู่ 9 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ประมาณ 4,000 ไร่จนกลายเป็นเวิ้งน้ำสุดลูกหู ลูกตาแล้ว โดยระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 50-100 ซม. รวมไปถึงพื้นที่ใน อ.พรมพิราม จ.พิษณุโลก ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
นายธวิทย์ เหลือสิงห์บุญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านตะแบกงาม ต.ชุมแสงสงคราม ยืนยันว่า ปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำในคลองเกตุ คลองกล่ำ ที่ทางกรมชลประทาน กำลังขุดลอกคลองเพื่อรองรับน้ำท่วมของรัฐบาล ตามโครงการ “บางระกำโมเดล” ล่าสุดน้ำท่วมคลองเรียบร้อยแล้ว และน้ำยังได้เอ่อล้นเข้าท่วมที่นาของชาวบ้านนับ 100 ราย พื้นที่กว่า 4,000 ไร่
แต่โชคดีนาข้าวส่วนใหญ่ ไม่มีข้าวเหลืออยู่ เพราะชาวนาบางระกำ “นกรู้” ตัดสินใจเกี่ยวข้าวหนีน้ำไปก่อนแล้ว รวมไปถึงพื้นที่พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง อยุธยา รวมถึงพื้นที่จังหวัดภาคกลางอื่นๆ ที่จะต้องรองรับมวลน้ำในอีกไม่กี่วันต่อจากนี้ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ผู้นำรัฐบาลตั้งแต่ ปู-ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี - ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทย์ฯ ประธาน กบอ. ฯลฯ ที่กำงบ (เงินกู้) จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านอยู่นั้น ดูเหมือนยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษา “ภาพพจน์ทางการเมือง” เป็นหลัก โดยเพียรยืนยันว่า ไม่มีน้ำล้นตลิ่ง - น้ำท่วมสุโขทัย เป็นเหตุสุดวิสัย - พนังคอนกรีตกั้นน้ำยมบางจุดเก่าแล้ว - ปีนี้ไม่มีน้ำท่วมเหมือนปี 54 แน่ ฯลฯ
ทั้งที่คนเมืองสุโขทัย รวมไปถึงชาวอ่างทอง สุพรรณบุรี อยุธยา ต้องลอยคอกลางกระแสน้ำแบบข้ามวันข้ามคืนกันอยู่เห็นๆ !!
จนชาวประชาคิดค้นวลีเด็ดออกมาประชดประชันการทำงานของรัฐบาล ปู-ยิ่งลักษณ์ ว่า “ธาราลิมปิก 2012” กระหึ่มโลกออนไลน์
ก่อนที่ “นายกฯปู” จะออกมาบอกโดยที่คนในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมยังไม่เห็นแม้แต่เงาของเธอ หลังจากน้ำท่วมไปแล้ว 2-3 วัน ว่า การซ่อมแซมพนังคอนกรีตริมน้ำยมที่สุโขทัย คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน
นั่นหมายถึง คนสุโขทัย ยังต้องเผชิญชะตากรรมใต้กระแสน้ำยมกันเองต่อไป
และเมื่อน้ำลด หมดฝน จึงค่อยออกมาเรียงแถวรอรับเงินเยียวยา (ไม่ถึง 7.5 ล้านเหมือนคดีเสื้อแดงเผาเมืองแน่!!) ซึ่งไม่แน่ว่า อาจจะต้องรอกันข้ามปี จนกว่าฤดูน้ำหลากปี 56 จะมาถึง เช่นเดียวกับที่เหยื่อน้ำท่วมใหญ่ 54 ที่ยังคงต้องออกมาเรียกร้องเงินชดเชยเยียวยากันถึงทุกวันนี้ (พ.ศ.2555)
ขณะเดียวกัน บรรดา “ขาใหญ่” ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่พัวพันกับผืนป่า-โครงการก่อสร้างเขื่อนมาตลอด ก็เริ่มใช้คราบน้ำตาเหยื่อน้ำท่วม จุดพลุเชียร์ให้มีการก่อสร้างเขื่อนยักษ์อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น “เขื่อนแก่งเสือเต้น - ยมบน - ยมล่าง-แม่วงก์”
ท่ามกลางกระแส นายหน้าชักก่อน 40% ที่โหมเข้าใส่รัฐบาลอยู่ในขณะนี้