บุรีรัมย์ - ตำรวจบุรีรัมย์โชว์หลักฐาน “ใบชั่งน้ำหนักปลอม” แฉกลโกงโครงการรับรับจำนำข้าว อ.หนองกี่ ทำรัฐเสียหายกว่า 44 ล้าน พร้อมเร่งส่งพนักงานสอบสวนลงพื้นที่สอบเกษตรกร 459 ราย ชี้เกษตรกรรายใดมีชื่อพัวพันแต่ให้ความร่วมมือจะกันเป็นพยาน ขู่หากไม่ร่วมมือพบผิดดำเนินคดีทันที ระบุ พบเกษตรกรไม่ทำนาแต่มีเชื่อร่วมจำนำข้าว พร้อมเตรียมเรียกสอบโรงสียืนยันใบชั่งน้ำหนัก
วันนี้ (7 ก.ย.) พล.ต.ต.รัฐพงษ์ ยิ้มใหญ่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) บุรีรัมย์ พร้อมด้วย พ.ต.อ.วิรัตน์ ถาดทอง รองผบก.ภ.จว.บุรีรัมย์ หัวหน้าคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ รับผิดชอบคดีทุจริตรับจำนำข้าว ได้นำใบชั่งน้ำหนักข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ที่ปลอมแปลงขึ้นมาใหม่ โดยหมายเลขไม่ไล่เรียงตามลำดับ และแตกต่างจากใบจริงที่มีลำดับหมายเลขหลักพัน แต่ใบปลอมเป็นเพียงหลักร้อย ซึ่งเป็นหลักฐานหนึ่งในจำนวนกว่า 800 ใบ ที่เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฯ ได้อายัดจากท่าข้าว “ธนพลพืชผล” อ.หนองกี่ ไว้ตรวจสอบมาเปิดโปง
ทั้งนี้ ใบชั่งน้ำหนักข้าวฉบับปลอมดังกล่าว เป็นเอกสารที่ผู้กระทำการทุจริตนำไปสอดแทรกกับฉบับจริงของเกษตรกร จำนวน 459 ราย จากเกษตรกรที่นำข้าวไปร่วมโครงรับการจำนำข้าวที่ท่าข้าว “ธนพลพืชผล” กว่า 2,000 ราย เพื่อนำไปเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกใบประทวน ก่อนนำไปขึ้นเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สร้างความเสียหายต่องบประมาณของรัฐกว่า 44 ล้านบาท จนทำให้ทางองค์การคลังสินค้าชะลอการออกใบประทวนให้แก่เกษตรกรจำนวน 460 ราย
จากความเสียหายดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะได้ส่งพนักงานสอบสวนลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริงในเชิงลึกทั้ง 11 อำเภอ ของ จ.บุรีรัมย์ ถ้าหากเกษตรกรรายใดในจำนวน 459 ราย ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ก็จะกันไว้เป็นพยาน แต่หากไม่ให้ความร่วมมือ หรือพบว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
ด้าน พล.ต.ต.รัฐพล ยิ้มใหญ่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า คดีนี้ตำรวจได้นำหมายศาลจับกุมผู้ต้องหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ในเขตพื้นที่ อ.หนองกี่ และพื้นที่ใกล้เคียง แล้วจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) 1 ราย
ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน อคส. 2 ราย และเจ้าของท่าข้าวอีก 2 ราย ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร กรอกข้อความรับรองในเอกสารในหน้าที่อันเป็นเท็จ, ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” โดยผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย ได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน พร้อมทนายได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวออกไปทั้งหมดแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้
ส่วนกรณีใบชั่งน้ำหนักปลอมที่ตรวจพบ จะส่งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฯ ลงพื้นที่สอบเกษตรกรทั้ง 459 ราย เพื่อสาวหาตัวผู้บงการ หรือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อไม่ให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเกิดขึ้นซ้ำอีก
ขณะที่ พ.ต.อ.วิรัตน์ ถาดทอง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งรับผิดชอบคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว เปิดเผยว่า ตำรวจจะเรียกเจ้าของโรงสีมาสอบสวน ให้ยืนยันใบชั่งน้ำหนักข้าวที่ตรวจพบมีการปลอมแปลงว่าแต่ละฉบับใบไหนเป็นของโรงสีบ้าง เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในหลักฐานใบชั่งน้ำหนักว่าใครเป็นผู้ปลอมแปลงเอกสารดังกล่าว และโรงสีมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
โดยมีข้อสังเกตว่า เกษตรกรบางรายไม่ได้ทำนา แต่มีชื่อเข้าร่วมการจำนำข้าวด้วย ซึ่งจะได้กันเกษตรกรเหล่านั้นไว้เป็นพยานในการสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์นี้ (10 ก.ย.) จะเรียกประชุมพนักงานสอบสวนทั้งหมดที่ดูแลคดีนี้เพื่อกำชับให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีอย่างตรงไปตรงมา หากสืบสวนไปถึงใครก็เรียกมาให้ปากคำทั้งหมด ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวน เพราะมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก