บุรีรัมย์ - ตร.ตรวจสอบเอกสารหลักฐานโครงการรับจำนำข้าว พบทั้งเกษตรกรและผู้ร่วมทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเพิ่มอีกกว่า 400 รายจากเกษตรกรที่นำข้าวมาเข้าร่วมกว่า 2,000 ราย ส่วนมากเป็นพฤติการณ์ทำใบชั่งน้ำหนักปลอมนำมาแทรกกับฉบับจริงกว่า 800 ฉบับ แต่ละฉบับมีการทุจริตมูลค่าตั้งแต่ 1-3 แสนบาท
วันนี้ (5 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองกี่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ได้ขอหมายศาลติดตามจับกุมตัวเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) พร้อมทั้งผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ และเจ้าของท่าข้าวรวม 5 ราย ข้อหาร่วมทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา นั้น
ล่าสุดคณะกรรมการชุดสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ได้ร่วมกันตรวจสอบเอกสารหลักฐานของเกษตรกรที่นำข้าวเข้าร่วมโครงการรับจำนำที่ท่าข้าวธนพลพืชผล อ.หนองกี่ กว่า 2,000 ราย ยังพบความผิดปกติด้านเอกสารหลักฐานของเกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมในการทุจริตเพิ่มอีกกว่า 400 ราย
ส่วนมากเป็นพฤติกรรมในการปลอมแปลงเอกสารชั่งน้ำหนักกว่า 800 ฉบับ แต่ละฉบับพบมีการทุจริตมูลค่าตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท แล้วนำมาแทรกกับฉบับจริงเพื่อนำไปประกอบชุดเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ อคส.ออกใบประทวน ก่อนที่จะนำไปขึ้นเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งคาดว่ามูลค่าความเสียหายน่าจะเกินกว่า 45 ล้านบาท
หนึ่งในคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ระบุว่า ข้อมูลเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่ตรวจพบจะได้รายงาน พล.ต.ต.รัฐพงษ์ ยิ้มใหญ่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) บุรีรัมย์ทราบ และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฯ เพื่อขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ร่วมกระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าวเพิ่มเติมอีกต่อไป
ขณะที่ นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันป้องกันการลักลอบนำข้าวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดฯ โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าข้าวตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาตลอดแนวเขตพื้นที่อำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย เพราะเกรงว่ากลุ่มผู้ไม่หวังดีหรือพ่อค้าจะลักลอบนำข้าวที่ด้อยคุณภาพมาเข้าร่วมโครงการจำนำ ซึ่งจะทำให้ข้าวคุณภาพดีของเกษตรกรได้รับผลกระทบเสียหายตามไปด้วย
ทั้งนี้ หากมีการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าข้าวจากนอกพื้นที่เข้ามาในจังหวัด และสอบสวนพบว่ามีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องและเอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิดก็ให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและกฎหมายทันที ซึ่งขณะนี้ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองได้มีการผสานกำลังตั้งจุดตรวจสกัดตามถนนสายหลักและสายรองที่คาดว่าขบวนการดังกล่าวจะใช้เป็นเส้นทางลำเลียงนำข้าวจากนอกพื้นที่ และประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในจังหวัดอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว
ส่วนจุดรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 ทั้ง 6 จุดในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ขณะนี้ได้ย้ำให้คณะกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำข้าวระดับจังหวัด และอำเภอ ร่วมกับตำรวจที่เข้าไปร่วมดูแลได้ตรวจสอบขั้นตอนการจำนำทุกขั้นตอนอย่างละเอียด โดยไม่ให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเกิดขึ้นซ้ำอีกอย่างเช่นที่ อ.หนองกี่ ที่สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรและรัฐบาลมูลค่ากว่า 45 ล้านบาท