xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ประชุมการมีส่วนร่วมก่อสร้างรถไฟทางคู่ “นครปฐม-หัวหิน” ครั้งที่ 1 ที่ราชบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ราชบุรี - ร.ฟ.ท.จัดประชุมการมีส่วนร่วมการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ “นครปฐม-หัวหิน” ครั้งที่ 1 ที่โรงแรมแพรวอาภาเพลส อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้นําชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมคึกคัก ส่วนวันพรุ่งนี้จะไปจัดประชุมที่เพชรบุรี โดยจะมีผู้เกี่ยวข้องในเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอแนวทาง และการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมแต่ละพื้นที่ที่ทางรถไฟพาดผ่าน

เวลา 10.30 น.วันนี้ (16 ส.ค.) นายกฤช รังสิเสนา ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดราชบุรี เป็นประธานการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหิน ของประชาชนครั้งที่ 1 ที่โรงแรมแพรวอาภาเพลส อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้นําชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีจุดตัดรถไฟพาดผ่าน 2 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีอำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภอเมือง อำเภอปากท่อ และภาคประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมประชุมประมาณ 150 คน เพื่อแสดงความคิดเห็นเรื่องผลดีผลเสียของการก่อสร้างรถไฟทางคู่ดังกล่าว

นายวินัย แก้วกุณฑล รองผู้จัดการโครงการบริษัทที่ปรึกษาของการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟทางคู่เป็นโครงการที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้แก่ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมไว้ พบว่า สายนครปฐม-หัวหิน เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความเหมาะสม และเร่งด่วนในระยะที่เริ่มต้นที่ต้องดำเนินการในช่วงปี 2555

โดยประโยชน์ที่จะได้รับกับโครงการนี้ คือ เรื่องความปลอดภัย เนื่องจากจะมีการแก้ปัญหาเรื่องจุดตัดและจุดข้ามทางรถไฟทั้งหมด และอีกประเด็นหนึ่ง คือ การใช้งานของรถไฟที่จะทำให้รถไฟสามารถควบคุมตารางเวลาเดินรถได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากว่าปัจจุบันนี้ รถไฟที่เป็นทางเดี่ยวปัญหาหลักคือ เป็นการพักคอย ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ความล่าช้า การขนส่งทางรถไฟสามารถแข่งขันกับการขนส่งในระบบอื่นได้ ทั้งๆ ที่ระบบขนส่งทางรถไฟเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับปริมาณการขนส่งที่สูงมากเมื่อเทียบกับรถยนต์ และอื่นๆ เพียงแต่จุดใหญ่คือ เราไม่สามารถควบคุมเวลาได้ การทำรถไฟทางคู่ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพตรงนี้ คือ ตัดประเด็นปัญหาของการพักคอยซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดการล่าช้าของรถไฟ

ส่วนเรื่องงบประมาณการดำเนินการคงจะค่อยๆ ทยอยทำไป และเรื่องวิธีการดำเนินงานจะไปทำความเข้าใจในผลกระทบที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ทั้งเรื่องการเวนคืน การชดเชย แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องทำในกรอบของกฎหมาย

ส่วนเรื่องผลกระทบของชุมชนในภาพรวมจะพยายามให้มีผลกระทบน้อยที่สุด แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะบอกว่าไม่มีผลกระทบเลย เนื่องจากการขยายการใช้พื้นที่ออกไป แต่สำหรับโครงการนี้ ได้ศึกษาความเหมาะสมมาแล้ว ซึ่งจะพยายามวางกรอบการพัฒนาให้อยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหลัก คงมีบางส่วนที่อยู่นอกพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.ออกไป

อย่างไรก็ตาม ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม ที่ทางรถไฟพาดผ่าน ส่วนวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ทาง ร.ฟ.ท.จะไปจัดประชุมโครงการดังกล่าวที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมีจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอแนวทาง และการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมแต่ละพื้นที่ที่ทางรถไฟพาดผ่านด้วย

นายธรรมศักดิ์ ฤทธิ์แดง นายกเทศมนตรีตำบลหลักเมือง อําเภอเมือง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เทศบาลมีพื้นที่ที่รถไฟผ่านมีความยาวหลายกิโลเมตรอยู่ในตำบลโคกหม้อ จากการที่ได้รับฟังผลสรุปจากเจ้าหน้าที่การรถไฟฯและบริษัทที่ปรึกษา การจะทำรถไฟทางคู่ดูแล้วน่าจะมีประโยชน์แก่ประชาชนไม่ใช่เฉพาะเขตเทศบาลตำบลหลักเมือง แต่คงทั้งจังหวัดราชบุรี และจังหวัดอื่นๆ ที่ทางรถไฟพาดผ่านซึ่งประชาชนที่อยู่ในตำบลหลักเมือง

ส่วนของความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินเท่าที่ดูจุดตัดต่างๆ ในพื้นที่ตำบลหลักเมืองมีอยู่ 3 จุด โดยจุดที่สำคัญจะอยู่ที่บริเวณจุดบริเวณห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี และจุดย่อยอีก 2 จุด เรื่องความปลอดภัยน่าจะมีผลดีต่อประชาชน

ส่วนเรื่องผลกระทบดูแล้วน่าจะเป็นการแบ่งแยกพี่น้องชุมชนออกจากกันเป็น 2 ส่วน ซึ่งปกติจะเดินข้ามไปมาหาสู่กัน แต่ถ้าทางรถไฟมีการดำเนินการทำรั้วกั้นแนวเขต จะทำให้ประชาชนไปมาหาสู่กันอย่างลำบาก อาจจะเป็นเรื่องวิถีของชุมชนที่จะมีปัญหาในอนาคต จึงต้องให้ ร.ฟ.ท.ซึ่งนอกจากจะมาทำรถไฟทางคู่แล้ว ก็จะต้องมาดูเรื่องสิ่งแวดล้อมรอบๆ เขตทางรถไฟด้วย เช่น อย่าให้บริเวณข้างทางมีหญ้ารกรุงรัง เมื่อประชาชนในพื้นที่เห็นบริเวณสองข้างทางที่โล่งสะอาดตาไม่รกรุงรังไม่เป็นอันตรายในการมองเห็นช่วงขบวนรถไฟกำลังผ่านอาจผ่อนคลายความวิตกกังวลและการไปมาหาสู่กันที่ลำบากมากขึ้น ซึ่งจะต้องแบ่งพื้นที่ตำบลโคกหม้อออกเป็นสองส่วน

นางอุดมลักษณ์ กาญจน์อร่ามกุล นายกเทศมนตรีตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ ร.ฟ.ท.จะเข้ามาสร้างความเจริญ แต่สิ่งที่สำคัญคือ อยากให้ ร.ฟ.ท.ได้สำรวจผลกระทบในพื้นที่ และการบริการประชาชนที่ใช้เส้นทาง ซึ่งควรจะเข้าไปศึกษาพื้นที่รถไฟทางคู่พาดผ่านให้มากขึ้น ที่สำคัญ ควรจัดประชุมในพื้นที่เพื่อหาแนวทางแก้ไขเรื่องจุดตัดต่างๆ ที่จะดำเนินการแก้ไขมีการแก้ไขถูกต้องหรือไม่กับในพื้นที่ ซึ่งประชาชนพอใจหรือไม่กับการแก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดที่ทาง ร.ฟ.ท.จะได้แก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องการจราจร เส้นทางการเดินของสถานีรถไฟที่จะดำเนินการสะดวก หรือเหมาะสมที่เคยใช้ในการบริการ

จึงอยากให้ ร.ฟ.ท. เข้าไปชี้แจงในพื้นที่ให้ประชาชนได้รับทราบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ให้มากขึ้น ให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ด้วย

นายวินัย  แก้วกุณฑล  รองผู้จัดการโครงการบริษัทที่ปรึกษาของการรถไฟแห่งประเทศไทย
นายธรรมศักดิ์ ฤทธิ์แดง นายกเทศมนตรีตำบลหลักเมือง อําเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
นางอุดมลักษณ์ กาญจน์อร่ามกุล นายกเทศมนตรีตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น