xs
xsm
sm
md
lg

ตร.โชว์ตรวจโรงสีจำนำข้าวไร้ทุจริต แต่ ผญบ.แฉฮั้วสวมสิทธิยัดข้าวเข้าโควตาโผล่ “เนินมะปราง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ตำรวจภูธรพิษณุโลกโชว์ตรวจโรงสีป้องทุจริตรับจำนำข้าว ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านในเนินมะปรางเผย ชาวนา-โรงสีฮั้วสวมสิทธิ โยกสต๊อกข้าวซื้อสด ยัดเข้าให้โควตาเต็มใบประทวน จากนั้นแบ่งเงินส่วนต่างคนละครึ่ง

วันนี้ (15 ส.ค.) ที่บริษัท โรงสีเจริญพาณิชย์ จำกัด 27/5 หมู่ 7 ถนนสีหราชเดโชชัย ต.วัดจันทร์ อ.เมืองพิษณุโลก พล.ต.ต.ธรรมนูญ เพชรบุรีกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก และคณะ ได้เดินทางไปตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตการรับจำนำข้าว ตามนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่รับมอบจากรัฐบาลให้ทำงานสืบสวนสอบสวนร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เกี่ยวกับการทุจริตการรับจำนำข้าว หลังตั้งศูนย์ฯ พร้อมจัดตำรวจไปประจำโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการ 20 แห่งใน 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.พรหมพิราม อ.บางกระทุ่ม อ.บางระกำ และ อ.วังทองหรือ อำเภอละ 5 นาย

พล.ต.ต.ธรรมนูญกล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางมาตรวจงานที่โรงสี เบื้องต้นยังไม่มีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับการทุจริตการจำนำข้าว โรงสีเจริญพาณิชย์ก็ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอน ชั่งและวัดความชื้น ออกใบรับรองต่อไป

นางโกสุมา ศรีสุโข ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัท โรงสีเจริญพาณิชย์ จำกัด บอกว่า โรงสีได้ดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกตามโครงการของรัฐบาล โดยได้รับซื้อข้าวจากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน จากนั้นได้นำข้าวเปลือกมาแปลงสภาพเป็นข้าวสาร และส่งเก็บในสต๊อกของรัฐบาลต่อไป

ขณะที่ชาวนาที่เดินทางมาขายข้าวบอกเพียงว่า การรับจำนำข้าวดี ถ้าหากได้เงินไวๆ ก็ถือว่าดีกว่าโครงการประกันราคาข้าวเปลือก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่ง (สงวนชื่อ และตำบล) อยู่ในเขตอำเภอเนินมะปราง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ขบวนการทุจริตเกิดขึ้นแล้วในอำเภอเนินมะปราง ลักษณะสวมสิทธิการรับจำนำข้าว กล่าวคือ เกษตรกร หรือลูกบ้านตนที่ปลูกข้าว ไปแจ้งหรือขึ้นทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่เกษตรเพื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำ

ส่วนใหญ่จะแจ้งพื้นที่ปลูกข้าวเต็มที่ เมื่อได้ผลผลิตน้อยกว่าเป้าก็ไม่มีปัญหา เพราะสามารถไปเอาข้าวนอกโครงการเข้ามาสวม นั่นคือทุจริตแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเพราะรู้เห็นกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ

เป็นต้นว่า กรณีเกษตรกรแจ้งโควตาจำนำข้าวเปลือกปริมาณที่สูง แต่ผลผลิตออกมาไม่ถึงเป้าหมายทำให้มีส่วนต่าง หรือยอดที่ยังสามารถนำข้าวเข้ามาสวมสิทธิโครงการรับจำนำได้อีก ซึ่งยอดดังกล่าวเพียงไปบอกเจ้าของโรงสีว่าตนเองมีโควตาเหลืออยู่เท่าใด ซึ่งโรงสีมีสต๊อกข้าวเปลือกอยู่แล้ว จึงนำข้าวมาเพิ่มยอดโควตาให้เท่ากับใบประทวนของเกษตรกรรายนั้นๆ โดยเกษตรกรจะได้เงินสดจากโรงสีจำนวนตันละ 1,000 บาท ยิ่งมีส่วนต่างโควตามากก็จะได้รับเงินสดสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนโรงสีก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากโรงสีรับซื้อข้าวสด (ไม่เข้าร่วมโครงการ) ตันละ 10,000 บาท แต่ขายข้าวแก่โครงการรัฐจำนวน 12,000 บาทต่อตัน จึงมีส่วนต่าง 2 พัน

ดังนั้น โรงสีและชาวนาจะได้รับเงินคนละหนึ่งพันบาทต่อตันง่ายๆ และเงียบ เพราะข้าวไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน เนื่องจากโรงสีต้องมีสต๊อกข้าวสดอยู่ในโรงสีพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่โยกข้าวในสต๊อกเข้ามาสวมใบประทวนของเกษตรกรรายนั้นๆ ให้เต็ม สรุปง่ายๆ ว่า “สวมสิทธิยัดให้เต็มโควตาตามใบประทวนรับจำนำของเกษตรกรแต่ละรายเท่านั้น”





กำลังโหลดความคิดเห็น