xs
xsm
sm
md
lg

ดึงเหยื่อน้ำท่วม 7 ชุมชนพิษณุโลก ตั้งวงเสวนาเตรียมตัวรับน้ำหลาก 55

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ดึงผู้ประสบภัยพิบัติเสวนาก่อนน้ำหลาก แนะควรอยู่กับธรรมชาติ รับรู้สิ่งเตือนภัย/ลางบอกเหตุธรรมชาติ

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่โรงแรมลีลาวดี รีสอร์ท มูลนิธิคนเพียงไพร ที่ได้รับการสนับสนุนจาก HEINRICH BOLL STIFTUNG SOUTHEAST ASIA ภายในแผนงานปรับตัว และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท่ามกลางภัยพิบัติ ได้จัดเสวนา “โลกร้อนการปรับตัวของชุมชน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยมี 7 ชุมชนที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และเป็นกลุ่มผู้ประสบภัยพิบัติในอำเภอต่างๆ ของพิษณุโลก เช่น อ.เนินมะปราง อ.ชาติตระการ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 160 คนเข้าร่วม

นายสาคร สงมา ตัวแทนมูลนิธิคนเพียงไพร กล่าวว่า การเสวนาที่จัดขึ้นครั้งนี้ มีเป้าหมายให้มีการรับรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติท่ามกลางภาวะโลกร้อน จึงต้องศึกษาพร้อมระดมความคิดเห็น ผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางปรับตัว เพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีต่อชุมชน หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ในหลากรูปแบบ ทั้งน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ฯลฯ ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ และมีแนวโน้มที่อาจเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลตรวจพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “ภาวะโลกร้อน”

นายณัฐวุฒิ อุปปะ ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมปี 54 ที่ผ่านมา คนเราจะต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำอย่างไรให้คนอยู่กับธรรมชาติได้ ซึ่งการสร้างถาวรวัตถุป้องกันน้ำท่วมไม่ได้แก้ปัญหา รัฐบาลควรแนะนำให้ประชาชนรับมือ และให้อยู่กับธรรมชาติให้ได้ พร้อมรับรู้สิ่งเตือนภัยลางบอกเหตุตามธรรมชาติ

เช่น สัตว์ป่าพลัดหลง หรือเก้งวิ่งออกจากป่าเข้าหมู่บ้าน บอกให้รู้เลยว่า จะมีดินโคลนถล่ม, ถ้าไส้เดือนออกมาในฤดูฝน แสดงว่า น้ำจะท่วม, ไก่ตากปีกกลางแดด ฝนจะตกหนักถึงขั้นพายุ, หากก้านของเครือกล้วยยาวมากแสดงว่า ปีนั้นฝนตกดี ถ้าก้านเครือสั้นแสดงว่า ฝนไม่ค่อยตก, ถ้าท้องฟ้าเป็นสีแดงทางทิศตะวันตก เชื่อว่า ปีนั้นน้ำจะแล้ง ถ้าท้องฟ้าเป็นสีแดงทางทิศตะวันออกก็เชื่อว่า น้ำดี ถ้าฝนตก ฟ้าขาว ดาวแจ้ง แปลว่า ฝนจะแล้ง น้ำจะขาด เป็นต้น

นายณัฐวุฒิ บอกว่า ในอดีต คน จ.พิษณุโลก และกงไกลาศ จ.สุโขทัย เมื่อน้ำท่วมขัง ไม่ถือว่าเป็นภัยพิบัติ แต่เป็นโอกาสของคนในชุมชนที่ปรับตัวอยู่กับภาวะน้ำท่วม และใช้ประโยชน์จากน้ำหลาก ผลิตปลาสดสู่ปลาแห้ง น้ำปลา สร้างรายได้จากภาวะน้ำท่วม แต่ปัจจุบัน น้ำท่วมขังระยะยาวถือเป็นภัยพิบัติ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ นาข้าวเสียหาย เพราะสภาพอากาศแปรปรวน น้ำมาเร็วกว่าปกติ ย่อมส่งผลกระทบไปถึงภาวะหนี้สิน ดังนั้น จะต้องตั้งรีบปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“คนบางระกำ ควรย่นเวลาปลูกข้าวให้สอดคล้องกับระยะภัยพิบัติ เช่น เก็บเกี่ยวข้าวครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวข้าวครั้งที่ 2 เดือนเมษายน เพื่อลดความเสียหาย”
กำลังโหลดความคิดเห็น