ศรีสะเกษ - คณะอนุกรรมการตรวจสอบโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงของ ก.พาณิชย์ลงพื้นที่เอกซเรย์หอมแดงเน่าศรีสะเกษอีกรอบ เผยการรับซื้อหอมแดงของ อคส.ล้มเหลวทั้งระบบ พบบกพร่อง-ทุจริตชัดเจนหลายขั้นตอน แฉมีนักการเมืองเป็นผู้สั่งให้จ่ายเงินและทำเอกสารขึ้นมาใหม่ ระบุเป็นการปล้นเงินงบฯแผ่นดินทำรัฐสูญ 700 ล้าน ลั่นต้องเอาผิดทั้งทางวินัยและอาญาต่อผู้เกี่ยวข้องร่วมโกงทั้งหมด คนทุจริตต้องติดคุก
วันนี้ (9 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ศรีสะเกษว่า ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงของกระทรวงพาณิชย์ และคณะ ได้ลงพื้นที่เข้าพบเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอทุกอำเภอ และทุกตำบลของ จ.ศรีสะเกษ รวมทั้งตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลกรณีที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงเพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยการเข้ารับซื้อหอมแดงจากเกษตรกร จ.ศรีสะเกษจำนวน 2 รอบมาเก็บไว้และเกิดการเน่าเสียเป็นจำนวนมาก และพบมีการทุจริตเกี่ยวกับการรับซื้อหอมแดงในครั้งนี้ด้วย
เช่น ปล่อยให้หอมแดงเน่าเสียเป็นจำนวนมาก, มีการนำหอมแดงมาแจ้งขายให้ อคส.ซ้ำซ้อนหลายครั้งเกินความเป็นจริง หลายรายได้เงินสูงถึง 1.1-1.5 ล้านบาท และ เกษตรกรที่แจ้งพื้นที่เกษตรประสบภัยพิบัติได้รับเงินช่วยเหลือจากทางราชการไปแล้วแต่กลับมีหอมแดงมาขายให้ อคส.ในโครงการดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงของกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มติคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ให้ อคส.ที่เป็นผู้ดำเนินการโครงการฯ ตามมติเดิม คือ 1. การรับซื้อหอมแดงจะต้องซื้อหอมแดงจากเกษตรกรที่มีอยู่จริงในขณะนั้น 2. หอมแดงจะต้องไม่เน่าเสีย และ 3. จะต้องมีการขนย้ายหอมแดงที่รับซื้อแล้วไปเก็บรักษาไว้ในที่ที่เหมาะสม
แต่เมื่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ได้มาตรวจสอบข้อเท็จจริงดูข้อมูลในพื้นที่แล้วพบว่า การจ่ายเงินค่ารับซื้อหอมแดงจำนวน 129 ล้านบาทมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2,061 ราย ซื้อหอมแดงได้ประมาณ 8,666 ตันตามยอดเงิน แต่ปรากฏว่าหอมแดงมีอยู่จริงไม่เกิน 6,000 ตัน ซึ่งในการรับซื้อหอมแดงครั้งนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงที่แจ้งว่าพื้นที่ปลูกหอมแดงประสบภัยพิบัติและได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไปแล้วไร่ละ 912 บาท แต่ได้นำหอมแดงมาขายให้โครงการฯ ด้วย ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากเกษตรกรเมื่อได้รับเงินช่วยเหลือเพราะพื้นที่ปลูกประสบภัยพิบัติจะเอาหอมแดงมาขายได้อย่างไร
ตนและคณะได้ทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษอย่างละเอียดแล้ว พบว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจำนวนมากที่มีชื่อในการขอรับเงินช่วยเหลือพื้นที่ทางการเกษตรประสบภัยพิบัติแล้วมีหอมแดงมาขายให้ อคส.
นายอุบลศักดิ์กล่าวต่อว่า เรื่องนี้สรุปได้ว่าการรับซื้อหอมแดงรอบ 2 มีนักการเมืองจากกรุงเทพฯ ที่มาเข้าร่วมประชุมกับเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงที่ จ.ศรีสะเกษ ได้มีการสั่งการให้ อคส.จ่ายเงินค่ารับซื้อหอมแดงให้เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง ซึ่งจากการที่ได้ทำการตรวจสอบหลักฐานแล้วพบว่าไม่สามารถจะจ่ายเงินให้ได้ เนื่องจากหอมแดงชุดที่นำเอามาฝากไว้กับ อคส.นั้น เจ้าหน้าที่ อคส.ไม่ยอมเซ็นในใบรับฝากหอมแดง และนักการเมืองได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ อคส.ทำเอกสารขึ้นมาใหม่ โดยการลอกของเดิมและเซ็นชื่อใหม่ โดยมีการจ่ายเงินย้อนหลังตั้งแต่มีการเริ่มต้นดำเนินการใหม่ เมื่อหอมแดงมีการดำเนินการมานานหลายเดือนแล้วและหอมแดงไม่มีอยู่จริง ดังนั้น ทำไม อคส.จะต้องจ่ายเงินให้เกษตรกร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการฉ้อโกงในการรับซื้อหอมแดงรอบที่ 2 เพราะมีรายชื่อการจ่ายเงินซ้ำซ้อนกันจำนวนมาก
นายอุบลศักดิ์กล่าวต่อว่า จากมติที่ประชุม คชก.ที่ให้รับซื้อหอมแดงจากเกษตรกรที่มีอยู่จริงในขณะนั้น แต่ปรากฏว่าหอมแดงไม่มีอยู่จริง และขั้นตอนที่ อคส.จะนำเอาหอมแดงที่รับซื้อมาออกไปขายก็อ้างว่าหอมเน่าเสีย ซึ่งแทนที่ อคส.ซื้อหอมแดงมาแล้วต้องขายไปเลยจะเก็บไว้ให้หอมแดงเน่าเสียทำไม ตรงนี้ถือว่าเป็นความบกพร่อง เป็นการส่อเจตนาว่ามีการทุจริตฉ้อโกง
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่าเกษตรอำเภอและเกษตรตำบลของ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ไม่ได้ทำหน้าที่เลย เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการเองทั้งหมด โดยใช้บุคคลกลุ่มเดียวกันจัดทำขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนหรือแจ้งยอดหอมแดง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งดำเนินการเองทั้งหมด ทำให้เกิดการทุจริตขึ้นในการรับซื้อหอมแดงครั้งนี้ ซึ่งคนทุจริตจะต้องติดคุก ส่วนคนบริสุทธิ์รัฐจะต้องคุ้มครองสิทธิทุกคน
นายอุบลศักดิ์กล่าวอีกว่า จากการที่ไปตรวจสอบการรับซื้อหอมแดงที่ภาคเหนือรวมทั้งการตรวจสอบการรับซื้อหอมแดงที่ จ.ศรีสะเกษมาแล้ว พบว่า อคส.มีการเบิกจ่ายเงินค่ารับซื้อหอมแดงไปแล้ว 700 ล้านบาท และการจ่ายเงินไปทั้งหมดนี้ถือว่าละลายสูญเปล่าทั้งหมดเพราะไม่มีเงินกลับคืนมาได้ การดำเนินงานของ อคส.ในเรื่องนี้เป็นความล้มเหลวทั้งระบบสูญเสีย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเงินที่รับซื้อก็เสียเปล่า เงินที่ให้เปล่า 10 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้เป็นค่าบริหารจัดการก็ต้องเสียไปด้วย ซึ่งก่อนที่จะมีการอนุมัติเงิน ปกติ คชก.ไม่เคยให้ค่าการบริหารจัดการเกิน 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ในการประชุมวันนั้น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะประธาน คชก. ยืนยันที่จะให้ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย แต่มีการแจ้งในที่ประชุมว่าสามารถดำเนินการได้
“มาถึงวันนี้ก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่าในการดำเนินการรับซื้อหอมแดงของ อคส.ครั้งนี้ติดลบ เป็นการปล้นเงินของประชาชนของรัฐไปมากถึง 700 ล้านบาท ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเพื่อดำเนินการทางวินัยและอาญา เอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่มีส่วนร่วมในการทุจริตการรับซื้อหอมแดงและเน่าเสียจำนวนมากในครั้งนี้” นายอุบลศักดิ์กล่าว