xs
xsm
sm
md
lg

สุรินทร์แล้งวิกฤต! ฝนทิ้งช่วง “นาข้าวหอมฯ” แห้งตายหลายแสนไร่-น้ำอ่างลดฮวบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรินทร์แล้งวิกฤต ฝนทิ้งช่วงยาวนานติดต่อกันถึง 3 เดือน ทำให้นาข้าวหอมมะลิของเกษตรกร ขาดน้ำเหี่ยวแห้งตายเป็นจำนวนมากหลายแสนไร่ วันนี้ ( 9 ส.ค.)
สุรินทร์ -เมืองช้างประสบภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤต เหตุฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่า 3 เดือน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักหล่อเลี้ยงเมืองช้างลดฮวบใกล้แห้งขอดจนเห็นเนินดินกลางอ่าง ขณะเกษตรกรเดือดร้อนหนัก นาข้าวหอมมะลิขาดน้ำแห้งตายหลายแสนไร่ ระบุเฉพาะ อ.ปราสาทนาข้าวเหี่ยวแห้งตายแล้วกว่า 2 แสนไร่ นายอำเภอเรียกประชุมร้องขอ “ฝนหลวง” ช่วยด่วน

วันนี้ (9 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ว่า เนื่องจากฝนทิ้งช่วงติดต่อกันยาวนานกว่า 3 เดือนยังคงรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนาข้าวของเกษตรกรในหลายพื้นที่อำเภอประสบปัญหาต้นข้าวขาดน้ำเหี่ยวแห้งตายแล้วหลายแสนไร่ ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรหลายแห่งของจังหวัดลดลงอย่างรวดเร็ว เหลือปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหลักสำหรับหล่อเลี้ยงเมืองสุรินทร์และอำเภอรอบนอก ทั้งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ปรากฏว่าล่าสุดจากปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวนานที่เกิดขึ้นทำให้ปริมาณน้ำลดลงอย่างรวดเร็วอยู่ในขั้นวิกฤต เหลือเพียง 3 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เท่านั้น จากขนาดความจุ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร จนสามารถมองเห็นเนินดินกลางอ่างเก็บน้ำ และต้องส่งน้ำเพื่อการเกษตรในเขตชลประทานน้อยลงเพื่อเก็บน้ำไว้ผลิตประปาสำหรับอุปโภคบริโภคที่ใช้ปริมาณน้ำดิบวันละ 3 หมื่นลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยเดือนละ 9 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากในช่วงนี้ยังคงไม่มีฝนตกลงมาจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน

นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว หัวหน้าโครงการชลประทานสุรินทร์ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงขณะนี้ลดลงมาเหลือเพียง 3 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุทั้งหมด 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เก็บน้ำอำปึล ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปมีขนาดความจุ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดเหลือปริมาณเพียง 3 ล้านลูกบาศก์เมตรเช่นกัน เนื่องจากฝนทิ้งช่วงมายาวนานติดต่อกันถึง 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา แต่หากฝนยังไม่ตกลงมาในช่วงเดือนนี้จะมีปัญหาแน่นอน ในขณะเดียวกันได้ประสานขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง หรือฝนเทียม เพื่อให้ขึ้นปฏิบัติการช่วยแล้ว แต่ยังติดเรื่องของสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย หากสภาพอากาศพร้อมก็สามารถบินขึ้นทำฝนเทียมได้ทันที ที่ผ่านมาการทำฝนเทียมยังไม่ได้ผลมากนักเนื่องจากมีลมกระโชกแรง พัดเอาเมฆลอยหนีไปในพื้นที่อื่น และที่สำคัญสภาพฝนทิ้งช่วงในขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือเกษตรกรที่ปลูกข้าวนอกเขตชลประทานนั้นได้รับผลกระทบเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ขณะที่นายประถม ประเมินดี นายอำเภอปราสาท จ.สุรินทร์ ได้เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกแห่งในท้องที่อำเภอปราสาทเพื่อรับทราบข้อมูลความเดือดร้อนของ ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และเกษตรกรที่เดือดร้อน นาข้าวซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นข้าวหอมมะลิขาดน้ำ ต้นข้าวเหี่ยวแห้งตายเป็นจำนวนมาก จากรายงานพบว่า ขณะนี้นาข้าวในพื้นที่ อ.ปราสาทขาดน้ำต้นข้าวแห้งตายไปแล้วกว่า 2 แสนไร่ ทางอำเภอปราสาทจึงได้รายงานถึงจังหวัดสุรินทร์เพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงได้เข้ามาทำฝนเทียมช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรโดยเร่งด่วนต่อไป


อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ.เมือง จ.สุรินทร์ แหล่งน้ำหลักหล่อเลี้ยงเมืองช้าง ทั้งการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ลดฮวบเหลือเพียง 3 ล้านลบ.ม. จากขนาดความจุ 20 ล้าน ลบ.ม.


ปราสาท จ.สุรินทร์ เรียกประชุมด่วน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รายงานข้อมูลความเดือดร้อน
นายสุทธิโรจน์  กองแก้ว หน.โครงการชลประทานสุรินทร์
กำลังโหลดความคิดเห็น