xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สุเมธ-นักวิชาการ” ปลุกคนแพร่จับมือชุมชนฟื้นฟูลุ่มน้ำยม - ผู้ว่าฯ ย้ำอย่ารอ “แก่งเสือเต้น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - “ดร.สุเมธ” พร้อมนักวิชาการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ร่วมขึ้นเวทีอบรมผู้นำท้องถิ่นเมืองแพร่ หนุนจัดการน้ำด้วยตนเอง เผยปีนี้แม้เข้าหน้าฝนแล้ว น้ำยังน้อย แต่ยังต้องจับตาต่อ ด้านพ่อเมืองแพร่ บอกวันนี้ไม่ต้องรอ “เขื่อนแก่งเสือเต้น” แล้ว ปลุกคนแพร่ร่วมทำเหมืองฝายขนาดเล็กในน้ำยมแทน


รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่แจ้งว่า มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ได้จัดเวทีฝึกอบรมผู้นำด้านการบริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ ที่ห้องไอยเรศ โรงแรมนครแพร่ทาวเวอร์ อ.เมือง จ.แพร่ เมื่อสุดสัปดาห์นี้ โดยมีนายเกษม วัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวเปิดงาน ท่ามกลางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ทุกแห่งร่วมจำนวน 700 คน โดยเวทีจัดอบรมครั้งนี้มีคณะทีมสำรวจทำข้อมูลน้ำทั้งประเทศของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ได้แก่ ดร.รอยล จิตรดอน ,ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ และคณะเข้าร่วมด้วย

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิอุทกพัฒน์ ได้บรรยายพิเศษเรื่องบทบาทผู้นำกับการบริหารจัดการน้ำชุมชน ได้เน้นการทำงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสนพระทัยในการพัฒนาภายใต้ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน โดยพระองค์จะใช้แผนที่และข้อมูลจากผู้สูงอายุในชุมชนมาผนวกกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งควรเป็นแบบอย่างในการพัฒนา โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับนั้น ตามกฎหมายกระจายอำนาจแล้วมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องหาทางบริหารจัดการน้ำในชุมชนให้เกิดผล ทำด้วยวิธีการใดนั้นไม่ใช่สิ่งตายตัว แต่เป็นการแก้ปัญหาด้วยเหตุและผล จะทำให้เกิดภาพใหญ่ที่มีการจัดการน้ำร่วมกัน ทำให้ประเทศภาพรวมจะสามารถอยู่กับน้ำได้

นายเกษม วัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ไม่มีทางที่จะพัฒนาหรือแก้ปัญหาน้ำได้ ถ้ายังคงรอโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่สิ่งที่สำคัญคนแพร่ต้องขึ้นมาช่วยกันในการแก้ปัญหา ซึ่งในท้องถิ่นมีภูมิปัญญาในการดูแลบริหารจัดการน้ำอยู่แล้ว ถ้ามีการกั้นน้ำยมขนาดเล็กๆ กระจายทั่ว ทำระบบเหมืองฝายจ่ายน้ำให้ทั่วจะสามารถมีน้ำใช้ได้ทั้งจังหวัด โดยไม่ต้องพึ่งแนวความคิดจากที่อื่น ซึ่งขณะนี้ต้องเร่งดำเนินการแล้วรอไม่ได้

ดร.รอยล จิตรดอน กล่าวว่า ในปี 2555 เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว จะเห็นว่าน้ำมาน้อยกว่าปีก่อน เพราะแนวของพายุพาดผ่านไปทางประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามเพราะร่องความกดอากาศต่ำที่จะพาดผ่านอยู่บริเวณภาคเหนือ-ภาคอีสาน อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมได้เช่นกัน ต้องติดตามว่าน้ำที่ตกลงมาจะมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน การที่ถึงปัจจุบันยังไม่มีน้ำท่วมส่วนหนึ่งน้ำฝนจะลดปริมาณไปประมาณร้อยละ 20 ของปีที่ผ่านมา และการบริหารจัดการที่ทุกฝ่ายพยายามก็สามารถทำให้เป็นเป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถหยุดปัญหาน้ำได้ระดับหนึ่ง แต่จากนี้ไปต้องเฝ้าระวังประมาทไม่ได้

หลังจากการบรรยายพิเศษ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และคณะฯ ได้ร่วมกับ อบจ.แพร่ ลงพื้นที่ตำบลแม่หล่าย อ.หนองม่วงไข่ เพื่อร่วมกิจกรรมปลูกต้นไคร้น้ำป้องกันตลิ่งพัง ที่ริมฝั่งน้ำยม อันเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากตลิ่งพัง โดยต้นไคร้เป็นพืชที่มีระบบรากยึดเกาะได้ดี จึงได้นำมาปลูกในบริเวณดังกล่าวเพื่อจัดการปัญหา และมีการส่งเสริมปลูกต้นไคร้ในระดับจังหวัดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น