xs
xsm
sm
md
lg

“อุทกพัฒน์” ร่วมตั้งศูนย์จัดการน้ำแพร่ ดึงรัฐ-ปชช.จัดการลุ่มน้ำ เลี่ยง “แก่งเสือเต้น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - มูลนิธิอุทกพัฒน์ร่วมตั้งศูนย์จัดการน้ำแพร่ บูรณาการเครือข่ายภาคประชาชน-รัฐรับมือน้ำท่วม น้ำแล้ง ชูเมืองแพร่มีจุดเด่นด้านคนขับเคลื่อนระดับชุมชน หลัง “พระสงฆ์” ร่วมงานด้านลุ่มน้ำได้ดี เลี่ยงเอ่ยถึง “แก่งเสือเต้น”

วันนี้ (9 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์ชัย จ.ผลิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ที่อาคารภายในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นศูนย์ที่บูรณาการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งเครือข่ายจัดการน้ำภาคประชาชน และภาครัฐ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมเป็นที่ปรึกษา พร้อมกันนั้น ดร.รอยล จิตดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ยังได้บรรยายพิเศษเรื่องการบูรณาการจัดการน้ำและการมีส่วนร่วมพัฒนาลุ่มน้ำ ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 200 คนรับฟังด้วย

นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่ กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดย อบจ.จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำในจังหวัด โดยเฉพาะแม่น้ำยมที่ถือเป็นลุ่มน้ำสำคัญของแพร่

ดร.รอยลกล่าวว่า มูลนิธิได้ร่วมกับภาคประชาชนในแพร่มานานถึง 3 ปี มีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำถึง 10 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก และฟื้นฟูปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำ ชะลอน้ำในชุมชนที่กรมชลประทานส่งมอบแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล ซึ่งจะมีการเริ่มโครงการใหม่อีก 6 โครงการ เน้นการพัฒนาจากล่างขึ้นบน และมูลนิธิอุทกพัฒน์ทำหน้าที่เชื่อมข้อมูลเข้าด้วยกัน ซึ่งพบว่าภาคประชาชนมีการบริหารจัดการน้ำได้ดี ท้องถิ่นสามารถสานต่อได้

ทั้งนี้ จ.แพร่มีจุดเด่นในการพัฒนาลุ่มน้ำที่สำคัญ มีตัวบุคคลที่ขับเคลื่อนอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะ “พระสงฆ์” ที่ทำงานลุ่มน้ำได้เป็นอย่างดี ตรงกับแนวพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ว่า “ถ้าพระเทศน์ที่มีเนื้อหาเรื่องธรรมชาติ การบริหารจัดการน้ำในการแสดงธรรมะต่อประชาชนจะได้ผล เกิดความเข้าใจการบริหารจัดการน้ำได้ เพราะพระเป็นผู้นำ และประชาชนในภาคเหนือยังเข้าวัดฟังธรรมอยู่เป็นประจำ”

พร้อมกันนี้ ดร.รอยลยังได้มอบอุปกรณ์คาดการณ์ฝนตกล่วงหน้า 7 วันแก่ทุกตำบล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือเตือนภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ และในฤดูฝนนี้ในภาคเหนือต้องเฝ้าระวังการเกิดพายุฝน และฝนทิ้งช่วงที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วง 3 เดือนจากนี้ไป โดยเครื่องมือดังกล่าวกำลังมีการปรับปรุงคุณภาพให้สามารถตรวจสอบได้ในพื้นที่ระดับจังหวัดหรือที่เล็กลงอีกเพื่อความแม่นยำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดศูนย์ไม่มีการพูดถึงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และแม้ว่าทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ยังมีแนวทางพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม แต่มีแนวคิดที่ต่างจากนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี

กำลังโหลดความคิดเห็น