พิษณุโลก - "ณัฐวุติ" พบเครือข่ายยางพาราเหนือและตะวันออก โยนราคายางพาราตกต่ำเหตุจากตลาดยุโรปซบ-ค่าเงินยูโรร่วง บอกรัฐบาลใช้เงินเพื่อชี้นำราคายางพาราไปแล้ว 30% ของมูลค่าโครงการ 15,000 ล้านบาท มั่นใจ พ.ร.บ.การยางคลอดแน่ปี 56
วันนี้ (27 ก.ค.) ที่โรงแรมท็อปแลนด์พลาซ่า จ.พิษณุโลก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมนายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผอ.สกย.และนายประสิทธิ์ หมีดเส็ง รอง ผอ.สกย. ได้เดินทางมาเปิดการประชุมครูยาง สกย.ปี 55 รุ่นที่ 3 ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดพิษณุโลก (สกย.) จัดขึ้น โดยมีนายสุรพล ฝันเชียร ผอ.สกย.พิษณุโลก และนายชูเกียรติ มุทธากาญจน์ รองผู้ว่าฯ ให้การต้อนรับ ท่ามกลางแกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง 17 จังหวัดภาคเหนือ 4 จังหวัดภาคตะวันออก จำนวน 670 คนที่เข้าร่วมประชุม
นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผอ.สกย. กล่าวว่า สกย.มีภารกิจหลักดูแลช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง กำหนดแผนการจัดกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางทุกระดับจากหมู่บ้านจนถึงระดับประเทศเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย โดยปัจจุบัน สกย.มีพนักงาน 723 คน รับผิดชอบชาวสวนยาง 1.2 ล้านคน ถือว่ายากที่จะดูแลทั่วถึง จึงได้จัดตั้งครูยางเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเกษตรกร ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพนักงาน สกย. ภายใต้เป้าหมายปี 56 จะผลิตครูยางอีกจำนวน 5 พันคน รวมเป็นครูยางทั้งสิ้น 12,000 คน ซึ่งครูยาง 1 คน จะรับผิดชอบเกษตรกรชาวสวนยาง 100 คน
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ผมมาเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ ก็รับเรื่องโครงการ 15,000 ล้านบาทพยุงราคายางพาราให้อยู่ในระดับ 120 บาท ไม่ใช่ผมเป็นคนประกาศว่ายางพาราต้อง 120 บาท แต่เป็นมติ ครม. ล่าสุดผมได้สั่งตรวจสอบสต๊อกยางพารา และเรียกผู้ว่าฯ ทั้ง 47 จังหวัดที่มีเกษตรกรชาวสวนยางมาพูดคุยถึงปัญหาแล้ว
แต่ราคายางตกต่ำช่วงนี้เป็นเพราะเศรษฐกิจในตลาดยุโรปซบเซา ค่าเงินยูโรตกต่ำ ทำให้ยางพาราไหลลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุดรัฐบาลกำลังนัดรัฐมนตรี 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาและพยุงราคายางพาราให้มีเสถียรภาพ
“แนวโน้มราคายางพารานั้น ยอมรับว่าผูกกับภาวะตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่กระทบราคายางพาราช่วงนี้ ส่วนปี 58 ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ราคายางจะตกต่ำหรือไม่รัฐบาลกำลังเตรียมการและกำหนดยุทธศาสตร์อยู่”
นายณัฐวุฒิยังเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพยุงและชี้นำราคายางพาราในตลาด 15,000 ล้านบาทนั้น รัฐบาลทำเพื่อแก้ปัญหายางตกต่ำ หากเงินหมดก็จะขอเพิ่มอีก ยืนยันว่าพยุงราคาไม่ได้แทรกแซงราคาในตลาด เพียงแค่ขอความร่วมมือเอกชน ซึ่งล่าสุดใช้เงินรัฐเพื่อชี้นำราคายางแล้ว 30% ของมูลค่าโครงการ
ส่วนโครงการปลูกยาง 8 แสนไร่ในพื้นที่แห่งใหม่ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ยกเลิกไปนั้น รัฐบาลกำลังปรับปรุงหลักเกณฑ์อยู่ กำลังดูว่าปีนี้จะคลอดโครงการปลูกยางแห่งใหม่ต่อได้หรือไม่ ส่วน พ.ร.บ.การยางที่ยังไม่ผ่านสภา เพราะมีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ รับรองว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังทำอยู่ ทันปิดสภาฯ รอบนี้แน่นอน มั่นใจว่าปีหน้าจะสามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.การยางฯ แน่นอน