ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- โรงเรียนประถมโคราชผวาโรคมือเท้าปากระบาดหนัก ระดมครู-นร.ทำความสะอาดโรงเรียน สั่งครูเฝ้าระวังใกล้ชิดสแกนพื้นที่ทั้งโรงเรียนและบ้าน ขณะ 4 จังหวัดอีสานใต้พบผู้ป่วยแล้วกว่า 1,000 ราย โคราชป่วยมากสุดเกือบ 500 ราย สั่งจับตา 6 อำเภอของ บุรีรัมย์-สุรินทร์ ติดชายแดนเขมร หลังพบผู้ป่วยพุ่ง
วันนี้ (24 ก.ค.) ที่โรงเรียนชุมชนประทาย ต.ประทาย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 800 คน คณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนและอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคมือเท้าปากในโรงเรียน แม้จะไม่พบนักเรียนป่วยเป็นโรคดังกล่าวก็ตาม
นายประเสริฐ หมีทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนประทาย กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้ส่งครู เข้าร่วมอบรมเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับโรคมือ เท้า ปาก และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวกับโรงพยาบาลประทาย เพื่อนำความรู้มาปรับใช้กับการป้องกันโรคในโรงเรียน และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เด็กนักเรียน พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้หัวหน้าห้องทุกช่วงชั้นเรียน ไปสาธิตขั้นตอนในการล้างมือ 7 ขั้นตอน ให้กับเพื่อน ๆ ในห้องเรียนได้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องตามหลักอานามัย
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า นอกจากการป้องกันในโรงเรียนแล้ว ยังได้สั่งการให้ครู ลงไปเยี่ยมบ้านของเด็กนักเรียนทุกคน เพื่อให้ความรู้กับผู้ปกครองในการเฝ้าติดตาม ดูแล บุตรหลานของตนเอง หากพบว่า บุตรหลานป่วยให้แจ้งทางโรงเรียนโดยด่วน เพื่อจะแจ้งต่อไปยังโรงพยาบาลประทาย นำตัวเด็กนักเรียนที่ป่วยไปตรวจคัดกรอง หาสาเหตุของโรค และหากพบว่าป่วยเป็นโรค มือ เท้า ปาก จะสั่งให้หยุดเรียนไว้ก่อนจนรักษาหายแล้วจึงให้กลับมาเรียนหนังสือต่อได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ โรคระบาดในโรงเรียน
ด้าน นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์โรคมือเท้าปากในพื้นที่สาธารณสุข เขต14 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, บุรีรัมย์,สุรินทร์ และ จ.ชัยภูมิ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-14 ก.ค. 2555 มีผู้ป่วยแล้วทั้งสิ้น 1,029 คน อัตราป่วยสูงสุดอยู่ที่ จ.นครราชสีมา โดยพบผู้ป่วย 478 ราย , บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 161 ราย ,ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 172 ราย และจ.สุรินทร์ พบผู้ป่วย 218 ราย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองเนื่องจากมีประชากรจำนวนมากมาอยู่รวมกัน การแพร่กระจายของเชื้อโรคมือเท้าปากมีโอกาสเกิดได้มาก และจากการวิเคราะห์พบว่า แนวโน้มการป่วยจะมีต่อเนื่องไปอีก 1-2 เดือน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝนและเปิดเทอม
สำหรับ พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในขณะนี้ คือจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนประเทศกัมพูชา ประกอบด้วย จ.สุรินทร์ ได้แก่ อ.ปราสาท อ.สังขะ อ.บัวเชด และ อ.พนมดงรัก ซึ่งพบว่าในเดือน ก.ค. มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นใน 4 อำเภอนี้ และ จ.บุรีรัมย์ ได้แก่ อ.ละหานทราย และ อ.บ้านกรวด โดยในเดือน ก.ค. มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นใน 2 อำเภอนี้
นพ.ธรีวัฒน์ กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญ สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลต้องจัดให้มีอ่างล้างมือ และห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลความสะอาดเสมอ แนะนำให้เด็กล้างมือด้วยนำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม
“หากพบบุตรหลานมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมดื่มนมหรือทานอาหาร อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก อาจเกิดภาวะสมองอักเสบ หรือ น้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที หรือมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 02 -590-3333” นพ.ธรีวัฒน์