xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยันพื้นที่เด็กแขมร์ป่วยอยู่ติดชายแดนเวียดนาม ไม่หวั่นเข้าสู่ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ไม่ห่วงสถานการณ์โรคมือเท้าปากชายแดนไทย-กัมพูชา ชี้ พื้นที่พบเด็กแขมร์ป่วย อยู่ที่จังหวัดบันเตียเมียนเจย ติดชายแดนเวียดนาม เผยยอดผู้ป่วยทะลักเข้ามารักษาน้อย
ด้านคร.ชี้ เหตุเด็กเขมรตายมาก เพราะโรคมือเท้าปากที่อาจมีเชื้อแยกย่อยรุนแรงกว่าไทย วอน ปชช.อย่าวิตกกังวล แนะดูแลสุขลักษณะดี ช่วยห่างไกลโรคได้


นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคมือเท้า ในประเทศกัมพูชา ว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก ได้ส่งหน่วยสอบสวนโรคลงพื้นที่แล้ว คาดว่า โรคที่พบในประเทศกัมพูชา น่าจะเป็นเอนเทอโรไวรัส 71 แต่เนื่องจากช่วงนี้ในประเทศแถบภูมิภาคอาเซียนป่วยเป็นไข้เลือดออก ทำให้ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว พบว่า มีผู้ป่วยจากกัมพูชาเข้ามารับการรักษาในไทยด้วยโรคมือเท้าปาก น้อยกว่าที่คิด เนื่องจากจังหวัดบันเตียเมียนเจย ติดกับชายแดนเวียดนาม ไม่ใช่ชายแดนไทย ส่วนผู้ป่วยในจังหวัดสระแก้วของไทยก็พบว่าไม่ได้มีอัตราการป่วยสูงเกินกว่าค่ามัธยฐานในปีที่แล้ว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สำหรับอัตราการป่วยโรคมือเท้าปาก มักจะพบในฤดูฝน เชื้อจะอยู่ในอุจจาระของเด็ก โดยพบเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปีป่วยมากที่สุด เนื่องจากมีภูมิต้านทานน้อย และหากระบบสุขอนามัยไม่ดี ไม่มีการหมั่นล้างมือ ก็ทำให้ป่วยและเสียชีวิตได้ สำหรับอัตราการเสียชีวิตจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ต้องมีปัจจัย 3 ส่วน คือ 1.เชื้อรุนแรง 2.ร่างกายอ่อนแอ 3.ระบบสาธารณสุข ซึ่งในส่วนของประเทศไทยถือเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส ไม่รุนแรง และระบบการสาธารณสุขในประเทศถือว่าดี ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ง่าย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงกรณีมีนักวิชาการด้านไวรัสวิทยา กังวลถึงสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก ในกัมพูชา อาจไม่ได้มาจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เพียงอย่างเดียว ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานสรุปยืนยันสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่ามาจากเชื้อดังกล่าว เพียงแต่อาจมีเชื้อแยกย่อยที่แตกต่างไปจากไทย หรือรุนแรงกว่า จนทำให้พบการเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ยืนยันว่า ไม่ต้องวิตกจนเกินเหตุ เพราะอย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอนามัยโลก อยู่ระหว่างตรวจสอบความชัดเจน และจะมีการประกาศให้แต่ละประเทศ ทราบอีกครั้ง สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื้อโรคมือ เท้า ปากที่พบมากส่วนใหญ่เป็นเชื้อคอกซากี ส่วนเอนเทอโรไวรัส ยิ่งน้อย และยิ่งเอ็นเทอโรไวรัส 71 ยิ่งน้อยไปอีก จึงไม่ต้องตื่นวิตก

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ที่มีการเสียชีวิตมาก อาจมาจากหลายปัจจัย ทั้งในประเทศกัมพูชา อาจมีผู้ป่วยจำนวนมาก เป็นหลักแสนก็เป็นได้ จึงทำให้พบอัตราการเสียชีวิตมาก ตรงนี้ต้องมีการเปรียบเทียบสัดส่วนการป่วยและการเสียชีวิต แต่ปัญหาคือ ระบบการเก็บข้อมูลของกัมพูชาอาจไม่มีฐานข้อมูลตรงนี้ ทำให้ขณะนี้ไม่มีทางทราบว่า มีผู้ป่วยจริงเท่าใด เรื่องนี้จึงเหลือเพียงการรอผลการตรวจสอบขององค์การอนามัยโลกก่อน

"ไม่อยากให้คิดมากในเรื่องเชื้อหรือชนิดของเชื้อ เพราะหากพ่อแม่ ผู้ปกครอง โรงเรียน มีการดูแลสุขลักษณะของเด็กดี ก็ห่างไกลโรคได้ โดยพ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรักษาความสะอาด หมั่นล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร รวมไปถึงหลังการขับถ่ายยิ่งต้องรักษาความสะอาด นอกจากนี้ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อนส้อม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน เป็นต้น ขณะที่สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาลต้องจัดให้มีอ่างล้างมือ และส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งต้องกำจัดอุจจาระของเด็กให้ถูกต้องด้วย” นพ.โอภาส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น